นิวยอร์ก 14 มี.ค.- ผู้เชี่ยวชาญด้านการธนาคารตำหนิเจ้าหน้าที่กำกับดูแลการธนาคารของสหรัฐว่า มองข้ามสัญญาณเตือนก่อนที่ธนาคารซิลิคอนวัลลีย์แบงก์หรือเอสวีบี (SVB) จะมีปัญหาจนถูกสั่งปิดกิจการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด (Fed) ประกาศเมื่อวันจันทร์ว่า จะเปิดเผยแผนการประเมินการกำกับดูแลเอสวีบีที่ถี่ถ้วน โปร่งใส และรวดเร็ว ในวันที่ 1 พฤษภาคม สะท้อนว่าเฟดยอมรับว่าควรจะกำกับดูแลได้ดีกว่านี้ ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน รับปากว่าจะตรวจสอบอย่างละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น และจะขอให้หน่วยงานกำกับดูแลเข้มงวดระเบียบด้านการธนาคาร
อาร์เธอร์ วิลมาร์ธ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน มองว่าการปิดกิจการเอสวีบีที่เป็นธนาคารใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐเมื่อวันศุกร์ และการปิดธนาคารซิกเนเจอร์แบงก์เมื่อวันอาทิตย์ เผยให้เห็นว่าการปฏิรูปการกำกับดูแลที่ดำเนินการมาตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ยังมีความย่อหย่อน เอสวีบีเติบโตเร็วมากในช่วงปี 2563-2565 และถือครองพันธบัตรระยะยาวที่มีอัตราดอกเบี้ยตายตัว ทำให้มีความเสี่ยงสูงมากต่อการที่เฟดเปลี่ยนนโยบายการเงินจากผ่อนคลายไปเป็นเข้มงวด ซึ่งเป็นสูตรตายตัวของความล้มเหลว และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับเจ้าหน้าที่กำกับดูแลแต่อย่างใด
ด้านแอนนา เกลเพิร์น อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ชี้ว่า เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กำกับดูแลที่จะต้องเพิ่มการดูแลด้วยวิธีเดิม ๆ เมื่อมีการผ่อนคลายข้อกำหนดที่ทำให้การเตือนอัตโนมัติหายไป ซึ่งหมายถึงการที่กฎหมายดอดด์-แฟรงก์ ปี 2553 ที่กำหนดให้ธนาคารที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.72 ล้านล้านบาท) ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดเรื่องเงินทุน สภาพคล่อง และอื่น ๆ ที่เข้มงวดขึ้น ถูกแก้ไขในรัฐบาลสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้บังคับใช้กับธนาคารที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.63 ล้านล้านบาท) ทำให้ธนาคารที่อยู่ภายใต้ระเบียบนี้มีจำนวนลดลง.-สำนักข่าวไทย