สามเสน 29 มี.ค.-กิจกรรมวันไตโลกปีนี้ชูแนวคิดให้คนไทยตระหนักปัญหาอ้วนลงพุง สาเหตุหนึ่งภาวะเสี่ยงโรคไต โดยพบคนไทยป่วยสูงถึง 7.6 แสนคนของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อและต้องล้างไตเพิ่มทุกปี สูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมเตือนอาหารรสเค็มจัดที่ควรระวัง ขนมขบเคี้ยว-เติมน้ำปลาทุกมื้อ เสี่ยงภาวะไตวายเรื้อรัง
สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็มสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดกิจกรรมวันไตโลก โดย พญ.ธนันดา ตระการวนิช ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เปิดเผยว่า แนวคิดหลักของการจัดงานครั้งนี้ คือต้องการให้คนไทยได้ตระหนักถึงปัญหาอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่ง ผลทำให้มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคไต โดยการควบคุมอาหารนั้น เป็นการป้องกันโรคไตได้วิธีหนึ่ง เท่ากับเป็นการควบคุมโซเดียม ที่จะป้องกันโรคไตได้
ข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลก ระบุให้คนทั่วไปบริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน ถ้าเทียบเป็นปริมาณโซเดียม คือไม่เกิน 2,000มิลลิกรัม เทียบได้กับเกลือ 1 ช้อนชาเท่านั้น เป้าหมายคือต้องการลดการบริโภคเกลือโซเดียมลง ร้อยละ 30ภายในปี 2068
พญ.ธนันดา กล่าวว่า การกินเค็มมากไป เบื้องต้นจะเกิดความดันโลหิตสูงทำให้ร่างกายเก็บน้ำมากขึ้น ทำให้ปริมาณเลือดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะความดันสูงในหลอดเลือด เกิดโรคแทรกซ้อนไตวาย อัมพฤกษ์ อัมพาตหัวใจวาย ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไต 7.6 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.5 ของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ ที่สัมพันธ์กับการบริโภคเกลือของคนไทย
นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยล้างไตเพิ่มขึ้นทุกปีทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 1.5หมื่นล้านบาทจากโรคไตวายระยะสุดท้าย โดยปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตทางช่องท้องหรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเฉลี่ยประมาณ 2.4 แสนต่อคนต่อปี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องใช้งบประมาณปี 2558 สูงถึง 5,247 ล้านบาทและจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6,318 ล้านบาทในปี 2559
ทั้งนี้ อาหารที่มีรสเค็มจัดที่ควรระวังคือขนมขบเคี้ยวและพฤติกรรมการกินอาหารที่ต้องเติมน้ำปลาหรือน้ำปลาพริกทุกมื้อ เป็นปัจจัยเสี่ยง เป็นสาเหตุของภาวะไตวายเรื้อรัง ที่ถือเป็น “ภัยเงียบรสเค็ม” เพราะไตจะถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้ไตฝ่อเล็กลงอาการตอนแรกจะไม่เกิด แต่เมื่อไตค่อยๆเสื่อมจะเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด .-สำนักข่าวไทย
ดูข่าวเพิ่มเติม