แจ้งวัฒนะ 21 มี.ค.- วสท.ยืนยัน อาคารสำนักงานใหญ่การประปาส่วนภูมิภาค ไม่ถล่ม หรือทรุดตัว สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ส่วนสาเหตุเพลิงไหม้ต้องรอผลจากกองพิสูจน์หลักฐาน
นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน และเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา กทม. เข้าตรวจสอบโครงสร้างอาคารการประปาส่วนภูมิภาคบริเวณชั้น 4 และหาสาเหตุเพลิงไหม้เมื่อวานนี้ โดยใช้เวลาตรวจสอบนานกว่า 1ชั่วโมง
นายก วสท. กล่าวภายหลังลงพื้นที่ว่า ได้ตรวจสอบความแข็งแรงทางกาย ภาพ พบโครงเหล็กหลังคา มีลักษณะเสียรูปทรง มีการแอ่นตัว ต้องมีการเสริมโครงสร้าง ขณะนี้บริเวณพื้นชั้น 4 เต็มไปด้วยเขม่าต้องรอเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดก่อน ส่วนชั้นที่เหลือเจ้าหน้าที่สามารถขนย้ายทรัพย์สิน อุปกรณ์สำนักงานต่างๆ ได้ตามปกติ เพราะไม่ได้รับผลกระทบ ยืนยันตัวอาคารไม่เสี่ยงถล่ม หรือมีการทรุดตัว เนื่องจากเกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณชั้นบนสุดของอาคาร หากซ่อมแซมแล้วเสร็จสามารถกลับมาใช้งานได้ แต่จะคุ้มค่า หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ว่าฯ กปภ.
ผู้ว่าฯ กปภ. กล่าวว่า บริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ เป็นชั้นทำงานฝ่ายเลขาฯ มีห้องสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ยืนยันไม่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับเอกสาร ที่ต้องส่งให้ สตง.ตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ทยอยส่งเอกสารไปแล้ว และข้อมูลส่วนใหญ่ถูกจัดเก็บที่ฝ่ายกฎหมาย ซึ่งไม่ได้อยู่ภายในอาคารนี้ รวมถึงเรื่องที่ กปภ.ได้รับการร้องเรียนมาก่อนหน้านี้มีอยู่ประ มาณกว่า 30 กว่าเรื่อง ไม่ได้รับผลกระทบ และไม่ส่งผลต่อการให้บริการประชาชนแต่อย่างใด
ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ เร่งทำความสะอาดโดยเร็วที่สุด เพราะมีเอกสารที่สำคัญ เกี่ยวกับกับการออกแบบ ต้องรีบขนย้ายออกจากพื้นที่ หลังจากนี้ภายใน 1เดือนจะจัดทำรายงานความเสียหาย และแนวทางการดำเนินการแซ่มแซม ส่งให้กับฝ่ายโยธา สำนักงานเขตหลักสี่ พร้อมเร่งดำ เนินการซ่อมแซ่มส่วนที่ได้รับความเสียหายทันที ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ ส่วนสาเหตุเพลิงไหม้ต้องรอผลจากกองพิสูจน์หลักฐาน
ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ภายใน 2-3วัน จะทราบผลว่าอาคารมีความเสียหายอย่างไร ทั้งนี้สนง.เขตหลักสี่ ได้ระงับการใช้งานอาคารดังกล่าว อย่างไรก็ตามอาคารนี้ได้ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2525 นานกว่า 30ปี ถูกต้องตามกฎหมาย โดยอาคารสูงภายในพื้นที่กทม. มีประมาณกว่า 3,000 อาคาร มีการตรวจสอบอาคารเป็นประจำทุกปี ซึ่งอาคารที่ก่อสร้างก่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารในพื้นที่ กทม.มีประ มาณ 1,200-1,300 อาคาร โดยหลังจากนี้เมื่ออาคารใด รายงานผลตรวจมาที่สำนักงานโยธา กทม.แล้ว ทาง กทม.จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ วสท. ลงพื้นที่สุ่มตรวจอาคารใหญ่ทั้งหมด เพื่อดำเนินการบังคับใช้ตามกฎหมาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 เบื้องต้น โดยมาตรการควบคุมอาคารต้องมีถังดับเพลิง ทางหนีไฟ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย