รัฐสภา 10 ม.ค.- กมธ.สปท.ด้านการเมือง เร่งจัดทำรายงานสร้างความปรองดอง เปิดทางคนหนีอยู่ ตปท.กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยกเว้นคดีหมิ่นสถาบัน ทุจริตและคดีที่ศาลตัดสินแล้ว คาดอีก 2 สัปดาห์ ส่งข้อเสนอเข้าที่ประชุม สปท.
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวถึงการพิจารณารายงานเรื่อง การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง ของกรรมาธิการว่า ขณะนี้กรรมาธิการแต่ละคนจะนำข้อเสนอไปศึกษารายละเอียด และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมวิป สปท.ในวันพฤหัสดีที่ 19 มกราคม ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุม สปท.ในสัปดาห์ถัดไป
นายเสรี กล่าวว่า หลักการของข้อเสนอได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา 3 ระยะ ได้แก่ ปัญหาในอดีต ปัญหาปัจจุบันและปัญหาในอนาคต ส่วนใหญ่เป็นปัญหาสืบเนื่องจากทางการเมือง จะแยกประเภทความร้ายแรงของคดีให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น หากคดีทั่วไปที่จำเลยยอมรับผิด ก็ให้ศาลจำหน่ายคดีและปล่อยตัว แต่ต้องจำกัดเวลาเพื่อควบคุมพฤติกรรมว่าภายใน 5 ปี ต้องห้ามปลุกระดมสร้างความแตกแยกในสังคม
“คดีที่จะยุติได้ ต้องเป็นคดีที่ไม่ร้ายแรง เช่น คดีก่อการร้าย คดีบุกรุกสถานที่สาธารณะ สนามบิน หรือเผาสถานที่ราชการ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้กระทำผิดนั้นเพียงแค่เข้าร่วมชุมนุมหรืออยู่ในเหตุการณ์เท่านั้น ไม่ใช่ผู้ลงมือเผาหรือก่อให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรง แต่หากเป็นแกนนำที่กระทำผิด แล้วยอมรับผิด ศาลก็จะลงโทษสถานเบา ยืนยันว่า ข้อเสนอนี้ต่างจากกฎหมายนิรโทษกรรม เนื่องจากกฎหมายนิรโทษกรรม จะถือว่าบุคคลนั้นไม่ได้ทำผิด แต่ข้อเสนอนี้ แกนนำก็ยังมีความผิด แต่ได้รับโอกาสในกระบวนการยุติธรรม” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวว่า รายงานดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอ ยังไม่ได้ร่างเป็นกฎหมาย และยังไม่ถึงขั้นที่ต้องใช้อำนาจ คสช.ตามมาตรา 44 ดำเนินการ เนื่องจากแต่เดิมก็มีกฎหมายอยู่แล้ว หากต้องออกกฎหมายก็เป็นหน้าที่ของ สนช. แต่หากรัฐบาลมีความเห็นเพิ่มเติม ก็เป็นอำนาจของหัวหน้า คสช.ที่จะตัดสินใจ
นายเสรี กล่าวว่า ในกระบวนการทางกฎหมาย ทุกคดี ศาลให้โอกาสผู้กระทำผิดอยู่แล้ว แต่กรรมาธิการกำลังหาวิธีการที่เป็นข้อยุติเพื่อสร้างความปรองดอง กรรมาธิการไม่ได้ดำเนินการนอกเหนือจากกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ กลับมาสู้คดีได้นั้น เนื่องจากที่ผ่านมา บุคคลเหล่านั้นไม่เชื่อมั่นในกฎหมายว่าจะมีความยุติธรรมหรือไม่ จึงให้โอกาสผู้ที่กลับมาสู้คดีว่าจะได้รับการประกันตัว แต่ข้อเสนอเหล่านี้ จะไม่รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน คดีทุจริตคอร์รัปชั่น และคดีที่ศาลตัดสินแล้ว เพราะคดีที่ศาลตัดสินแล้ว ก็ต้องรับโทษไปตามนั้น.-สำนักข่าวไทย