ภูมิภาค 25 ม.ค.- ชลประทานบุรีรัมย์มั่นใจน้ำดิบอ่างเก็บน้ำหลักพอผลิตประปาตลอดหน้าแล้ง แต่ปลูกข้าวนาปรังต้องชะลอไว้ก่อน หวั่นปีนี้ฝนมาช้า ส่วนอ่างทองชาวบ้านปลูกพืชอายุสั้นแทนทำนาตามคำเตือนทางการ และแม่น้ำเจ้าพระยาส่งสัญญาณอาจแล้งเร็ว
นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบขนาดใหญ่ใช้ผลิตประปาบริการในเขตตัวเมืองและเขตเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึง อ.ห้วยราช กว่า 20,000 ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม แม้ปีนี้มั่นใจว่ามีน้ำพอใช้ผลิตประปา เนื่องจากอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่งมีปริมาณน้ำกักเก็บมากกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งชลประทานจังหวัดและการประปาส่วนภูมิภาคได้ผันน้ำจากลำน้ำมาศ อ.ลำปลายมาศ ระยะทาง 16 กิโลเมตร มาสำรองไว้แล้ว เพื่อรับมือภัยแล้ง แต่ที่สำคัญเกษตรกรในเขตชลประทานยังต้องชะลอการทำนาปรังไว้ก่อน เพราะเป็นการเพาะปลูกที่ต้องใช้น้ำมาก โดยให้ปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้อย เพื่อเป็นการไม่ประมาทและลดความเสี่ยงหากเกิดภาวะฝนมาช้าหรือไม่ตกตรงตามฤดูกาล โดยจะสำรองน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภค เพราะช่วงหน้าแล้งจะมีสถิติการใช้น้ำมากกว่าฤดูกาลอื่น
ขณะที่ จ.อ่างทอง ชาวบ้านหมู่ 4 ต.ไชยภูมิ อ.ไชโย ริมแม่น้ำเจ้าพระยาปลูกถั่วลิสงและแตงโม ซึ่งพืชระยะสั้นเพียง 3 เดือน แทนการปลูกข้าว เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่งสัญญาณภัยแล้งมาเร็ว เกิดเป็นสันดอนกลางน้ำ ประกอบกับทางการประกาศเตือนภาคการเกษตรชะลอการปลูกข้าวนาปรังในระยะนี้ไว้ก่อน สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีชลมาตร C7 a ของสำนักชลประทานที่ 12 บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทองวัดได้ 0.57 เมตร จากระดับน้ำทะเล ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าปีนี้อาจประสบภัยแล้ง.-สำนักข่าวไทย