สธ.3 ก.พ.-สธ.เตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนก ลิ้นจี่ที่สุกงอมแล้วสามารถกินได้ตามปกติ แต่ไม่ควรกินขณะท้องว่าง โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ที่สำคัญไม่ควรกินผลดิบและเมล็ดลิ้นจี่ เผยประเทศไทยยังไม่เคยพบรายงานการเสียชีวิตจากการกินลิ้นจี่หรือเหตุการณ์ผิดปกติจากการกินลิ้นจี่ดิบดังเช่นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวว่าผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ ระบุสาเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตในภาคเหนือของอินเดีย เกิดจากพิษของผลไม้ ซึ่งเป็นสารชนิดหนึ่งในผลดิบและเมล็ดลิ้นจี่ มีพิษต่อร่างกาย โดยสารดังกล่าวจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในกระบวนการเผาพลาญน้ำตาลกลูโคส ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและส่งผลต่อระบบประสาท
ทั้งนี้ วารสารดังกล่าวระบุว่า ไม่ได้เกิดกับเด็กทุกคนที่กินลิ้นจี่ แต่พบว่าเกิดกับเด็กเล็ก ที่มีภาวะขาดสารอาหารและมีประวัติกินลิ้นจี่ดิบ และกินลิ้นจี่ทั้งวันปริมาณมากโดยไม่ได้รับประทานอาหารอื่นตลอดทั้งวัน นั้น
ทั้งนี้ ในประเทศไทย ยังไม่เคยพบรายงานการเสียชีวิตจากการกินลิ้นจี่ หรือเหตุการณ์ผิดปกติดังเช่นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับรายงานข่าวดังกล่าว ขอให้ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เพราะข้อมูลวิชาการที่มีในปัจจุบัน นั้น ชี้ว่าลิ้นจี่ที่สุกงอมแล้ว สามารถกินได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ประชาชนกินในปริมาณที่พอดี ไม่มากจนเกินไป ไม่กินตลอดทั้งวันแทนอาหาร และไม่ควรกินในขณะท้องว่าง โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น ขาดสารอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการกินลิ้นจี่ผลดิบและเมล็ดลิ้นจี่ เพราะอาจมีความเสี่ยงตามที่ปรากฎในวารสารดังกล่าว
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า สธ.โดยกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานทางด้านพิษวิทยา เพื่อหารือด้านวิชาการและข้อเสนอทางวิชาการเพิ่มเติม เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน ต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 .-สำนักข่าวไทย