นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการยาสูบ โรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า หลังจาก ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนาพืชกัญชงบนพื้นที่สูงระยะเวลา 5 ปี นำร่องในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก และเพชรบูรณ์ โรงงานยาสูบได้เริ่มทดลองปลูกและแปรรูปเฮมพ์เชิงพาณิชย์ ในพื้นที่เพาะปลูกยาสูบ ของสถานีทดลองยาสูบแม่โจ้ ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โรงงานยาสูบจึงต้องส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคเหนือและอีสานปลูกต้นกัญชง (HEMP) เนื่องจากต้นกัญชงเป็นพืชต้านทานแมลงศัตรูพืช จึงไม่ต้องใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัด
สำหรับต้นกัญชงหรือเฮมพ์มีประโยชน์มากมาย อย่างเช่น เมล็ดเฮมพ์ สกัดเป็นน้ำมันได้สูงถึงร้อยละ 30 น้ำมันเมล็ดเฮมพ์ อุดมไปด้วยโปรตีน กรดอะมิโน กรดไขมันอิ่มตัว เช่น โอเมก้า 3,6,9 และมีสารออกฤทธิ์บรรเทาความเจ็บปวด รักษาโรคมะเร็งและพาร์กินสัน ลำต้นความสูงมากกว่า 2 เมตร มีสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทในระดับต่ำ จึงมีคุณสมบัติรักษาโรคได้หลายชนิด เมื่อพบว่าน้ำมันเมล็ดเฮมพ์แพงมากนับล้านบาทต่อกิโลกรัม
แกนต้นกัญชงมีน้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน มีคุณสมบัติดูดซับกลิ่น ทนต่อการเสื่อมสภาพ ระบายอากาศได้ดี จะมีความอุ่นในช่วงหน้าหนาว แต่จะเย็นสบายเมื่อสวมใส่เครื่องนุ่งห่มจากเฮมพ์ในช่วงหน้าร้อน จึงถูกนำมาพัฒนาเป็นเสื้อผ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ วัสดุก่อสร้าง ขณะที่น้ำมันและเส้นใย ได้มีความต้องการมากกว่า 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เนื่องจาก 27 ประเทศทั่วโลกอนุญาตให้ปลูกเฮมพ์ได้อย่างถูกกฎหมาย และมนุษย์ได้รู้จักและนำมาใช้ประโยชน์จากเส้นใย อาหารและยานานกว่า 6,000 ปี
โรงงานยาสูบจึงวางแผนในปี 60 เริ่มดำเนินการอุตสาหกรรมแปรรูปเฮมพ์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรยาสูบในเครือข่ายหันมาปลูกเฮมพ์เพิ่มเติม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษานำเข้าเมล็ดเฮมพ์จากจีน แคนนาดา และออสเตรเลีย เพื่อเริ่มกระจายให้เกษตรกรปลูกในช่วงต้นปี 61-สำนักข่าวไทย
