ทส.14 ก.พ.-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เร่งจัดการแพขยะในทะเล หลังพบเพิ่มในหลายจังหวัด เตรียมประชาพิจารณ์ ก่อนประกาศใช้มาตรการทางกฎหมายและภาษี เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ในการแถลงข่าวสถานการณ์ขยะทะเลในประเทศไทยและการจัดการแพขยะในทะเล บริเวณจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)
น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ได้ประสานกับGisda เพื่อใช้ภาพถ่ายดาวเทียมประกอบแบบจำลองการเคลื่อนตัวของแพขยะกลุ่มดังกล่าว พบว่า มีทิศทางการไหลไปทางทิศตะวันออกของเกาะทะลุ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกระจายเป็นวงกว้างประมาณ1กิโลเมตร เป็นแนวยาวประมาณ 20กิโลเมตร ห่างจากชายฝั่งประมาณ 7 กิโลเมตร โดย ทช. ได้ประสาน กองทัพเรือ และภาคเอกชน ออกสำรวจและจัดเก็บขยะดังกล่าว ตั้งแต่วันที่9 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา แต่ก็พบกับปัญหาอุปสรรคจากคลื่นลมแรง ขยะกระจัดกระจายยากต่อการล้อมเพื่อตักขึ้นเรือ และคลื่นลมแรงมากจนเรือต้องกลับเข้าฝั่ง ทำให้เบื้องต้นสามารถเก็บขยะขึ้นฝั่งมาได้ประมาณ 5.5ตัน หรือประเมินเป็นขยะพลาสติกมากกว่า8หมื่นชิ้น ส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก เศษขันพลาสติก และถุงพลาสติก
โดยได้ยุติการจัดการชั่วคราวในวันที่10 และยังไม่สามารถออกเรือเข้าไปจัดการได้จนถึงขณะนี้ โดยทุกฝ่ายยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมปฏิบัติการทันทีที่สภาพคลื่นลมเอื้ออำนวย คาดว่า ยังมีขยะที่ต้องนำขึ้นมาอีกไม่น้อยกว่า 15, 000 กิโลกรัม
ขณะเดียวกัน ยังพบแพขยะใน ลักษณะเดียวกันนี้ ในจังหวัดอื่นๆด้วย ทั้งนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา ซึ่งเป็นขยะที่เกิดจากอุทกภัยครั้งใหญ่ และได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์ขยะตลอดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง
นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ให้ ทช.ศึกษาติดตามแหล่งที่มาของขยะทะเลเพื่อกำหนดมาตรการลดขยะทะเลให้ได้อย่างจริงจัง ให้เป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559-2564 เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลเป็นอันดับ6ของโลก โดยมีขยะตกค้างไม่ได้รับการจัดเก็บอย่างถูกต้องบริเวณพื้นที่จังหวัดชายทะเลมากกว่า 5ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 10 หรือ5แสนตันต่อปี จะถูกชะและพัดพาลงสู่ทะเลประมาณว่าร้อยละ 10 ของขยะที่ลงทะเลเป็นขยะพลาสติกซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในทะเลโดยเฉพาะกับสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ โลมาทวาฬและเต่าทะเลโดยปัจจุบันอัตราการตายที่มีสาเหตุจากขยะทะเลมากถึงร้อยละ 10 และยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอีกด้วย โดยมีเป้าหมายในระยะ5 -10 ปี ไทยต้องหลุดจากอันดับโลกของการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล
นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้กรมฯ ศึกษาและจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกลงให้ได้ โดยนำร่องใน 3 จังหวัดท่องเที่ยว ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่และภูเก็ตโดยจะสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนประกาศใช้กฎหมาย ควบคู่กับการพิจารณาใช้มาตรการทางภาษีในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกเพราะจากการศึกษาข้อมูลการบังคับใช้มาตรการทางภาษีในต่างประเทศ พบว่า สามารถลดการใช้ถุงพลาสติดลงได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50ในทุกประเทศ เช่น ไอส์แลนด์ ลดได่ร้อยละ90 ไต้หวันลดได้ ร้อยละ80 โดยจะหารูปแบบทางวิชาการความพร้อมของประชาชนรวมทั้งวิธีการจัดการเพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยได้มีการรณรงค์ให้ลดการใช้ถุงพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งในปีแรกลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ประมาณ 16ล้านใบ
ปี 2553 ลดได้ 36ล้านใบและปีล่าสุด 2559 ตั้งเป้าในการลดไว้ 89 ล้านใบ แต่สามารถลดได้จริงเกินเป้าหมายเกือบ2เท่า หรือประมาณกว่า 166ล้านใบ แสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจและให้ความร่วมมือมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย