ชุมพร 14 มิ.ย. – รมช.พาณิชย์ นำทีมลงพื้นที่ จ.ชุมพร ตรวจเข้มรับซื้อปาล์มช่วยเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรม ข่าวดีสินค้าทุเรียนทางใต้ผู้ประกอบล้งรับซื้อทุเรียน ดันราคาสูงถึง กก.ละ 170 บาท
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าได้นำคณะลงพื้นที่จังหวัดชุมพร เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านราคาและปริมาณผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกปาล์มน้ำมันที่สำคัญ พร้อมกำกับให้ผู้ประกอบการรับซื้อผลปาล์มน้ำมันทั้งโรงสกัดและลานเท ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 อย่างเคร่งครัด ทั้งการแสดงราคารับซื้อตามอัตราการสกัด (เปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์ม) เครื่องชั่งที่เที่ยงตรง และมีการรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม เพื่อป้องปรามไม่ให้พี่น้องเกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบจากการจำหน่ายผลผลิต หรือถูกกดราคารับซื้อ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะช่วยยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกร
อย่างไรก็ตาาม การลงพื้นที่ครั้งนี้ นอกจากตรวจการรับซื้อปาล์มแล้ว ยังได้ความพร้อมก่อนผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาด ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ และยังให้ติดตามการซื้ออย่างใกล้ชิด ป้องกันการกดราคารับซื้อ กำชับให้แสดงราคารับซื้อ และตรวจสอบเครื่องชั่ง และขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้และพืชเศรษฐกิจตัวรอง ปี 2567 โดยได้ใช้โอกาสนี้ หารือกับเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน จังหวัดชุมพร ผู้ประกอบการแผงค้า และล้งรับซื้อทุเรียน เพื่อให้เตรียมความพร้อมในการเปิดรับซื้อผลผลิตทุเรียนภาคใต้ ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม โดยล้งได้เปิดทำการแล้วกว่า 70% ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถดูแลผลผลิตทุเรียนที่จะออกสู่ตลาดได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ยังได้ตรวจเยี่ยมการค้าในตลาดมรกต ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ และบริษัท เอดีเอส (เฮียน้อย) อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยขณะนี้การซื้อขายเป็นปกติ และเริ่มมีความคึกคัก แผงค้าในตลาดมรกตเปิดรับซื้อทุเรียนเต็ม 100% ส่วนราคาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยเกรด AB ราคาอยู่ที่ 165-170 บาท/กิโลกรัม (กก.) เกรด C อยู่ที่ 120-125 บาท/กก. และเกรด D อยู่ที่ 100-110 บาท/กก.
“กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามและตรวจสอบการซื้อขายทุเรียนอย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีการกดราคารับซื้อ หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมในการซื้อขาย และยังได้ขอความร่วมมือแผงค้าและล้ง แสดงราคารับซื้อให้ชัดเจนภายในเวลา 08.00 น. หรือทันทีที่เปิดทำการ และใช้เครื่องชั่งที่มีมาตรฐาน ผ่านการตรวจรับรองคุณภาพ โดยได้สั่งการให้สำนักงานชั่งตวงวัดในพื้นที่เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบความถูกต้องเที่ยงตรงของเครื่องชั่งในจังหวัดอย่างเข้มงวด จึงขอให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภาคใต้มั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างแน่นอน”นายสุชาติ กล่าว
สำหรับสถานการณ์ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ในปี 2567 กรมการค้าภายในรายงานว่า จะมีปริมาณรวม 670,987 ตัน เพิ่มขึ้น 58,567 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 10% และผลผลิตมีคุณภาพดี แต่โชคดีที่ผลผลิตออกไม่พร้อมกัน ปีนี้น่าจะออกเป็น 4 ช่วง จากปีที่แล้วออกเพียง 3 ช่วง ทำให้บริหารจัดการได้ง่าย เพราะผลผลิตไม่กระจุกตัว และขณะนี้ได้มีการติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงต้นฤดู และประสานผู้ว่าราชการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ที่เป็นแหล่งผลิตทุเรียนให้ช่วยติดตามดูแลด้วย โดยเฉพาะการรับซื้อ เพื่อให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม.-514-สำนักข่าวไทย