สยามพารากอน 15 ก.พ. – นายหนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา “มองหาอนาคต…ยุค 4.0″ จัดโดยสภาธุรกิจไทย-จีน ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน Opportunity Thailand แสดงถึงนโยบายไทยที่มุ่งเสริมสร้างเศรษฐกิจและกำหนดทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต เห็นได้จากการเดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จึงเชื่อว่าเศรษฐิจไทยจะมีอนาคตที่สดใสสวยงามและก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 อย่างแน่นอน ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้า ประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างจีนและไทยต้องเผชิญแรงกดดันหนัก เพราะแนวทางการพัฒนาที่ผ่านมาเข้าสู่ภาวะคอขวด จึงต้องระมัดระวังไม่ให้ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ขณะเดียวกันต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา
นายหนิง กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจจากไทยแลนด์ 3.0 ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนความได้เปรียบข้อได้เปรียบความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและวัฒนธรรมของประเทศไทย ให้เป็นศักยภาพการแข่งขันสูง เพื่อเสริมสร้างเครื่องจักรเศรษฐกิจของชาติแบบใหม่สอดคลัองกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของจีนอย่างมาก ตามนโยบาย One Belt and Road 2015 ซึ่งหากผสมผสานทางด้านเทคนิค เงินทุน เข้ากับประเทศไทยได้ก็จะประสบผลสำเร็จอย่างสวยงามและปัจจุบันประเทศจีนเริ่มผสมผสานเข้าด้วยกันแล้ว ซึ่งอาลีบาบากำลังเสริมสร้างอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยและจีนจะมีการตั้งศูนย์นวัตกรรมอาเซียนในกรุงเทพฯ ช่วยให้จีนสามารถที่จะผสานเข้ากับประเทศในอาเซียนและไทยต่อไป ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยและจีนยังเดินหน้าเสริมสร้างการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยล่าสุดคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 5 ขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มเป็น 2 เท่าจากปัจจุบันภายใน 5 ปี หรือเป็น 120,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 เป็นต้น
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ “เศรษฐกิจและการเงินไทยยุค 4.0″ ว่า เศรษฐกิจโลกการเงินโลกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะ 3 ต่ำ 2 สูง ได้แก่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำ และอัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ตลาดทุนผันผวนสูงและผู้ได้รับประโยชน์กระจุกตัวสูง ซึ่งประเทศไทยเผชิญ 3 ต่ำ 2 สูงเช่นกัน แต่อาจรุนแรงน้อยกว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีในช่วง 3ปีที่ผ่านมา เพราะไทยมีกันชนดีจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงถึงร้อยละ 10 จีดีพีสูงเป็นประวัติการณ์ เงินสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และสูงกว่าต่างประเทศ 3.2 เท่า กันชนนี้ช่วยรับมือกับความผันผวนภายนอกได้ดีระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปรากฎการณ์ 3 ต่ำ 2 สูงนี้จะอยู่กับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ต่อไปเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะเกิดขึ้นขนานไปด้วย จะมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่สำคัญที่สุด คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดหรือยุค 4.0 ซึ่งจะมีผลต่อสภาวะ 3 ต่ำ 2 สูง โดยโลกยุค 4.0 อาจช่วยการพัฒนาประเทศข้ามขั้นสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ได้โดยตรง แต่ในประเทศไม่สามารถปรับตัวได้ทันเศรษฐกิจโตลดลง เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตต่ำระยะยาว เงินเฟ้อจะต่ำมากขึ้น และอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับต่ำ ความผันผวนสูงขึ้นจากตลาดเงินตลาดทุนที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน และความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มจะสูงขึ้น เพราะช่องว่างทางเทคโนโลยีจะถ่างขึ้น
สำหรับไทยมี 3 เรื่องสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุนับเป็นสิ่งท้าทาย เพราะคนวัยทำงานลดลง สังคมผู้สูงอายุทำให้การเมืองเปลี่ยน สังคมผู้สูงอายุจะทำให้บริบททางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปด้วย เนื่องจากฐานเสียงผู้สูงอายุจะสำคัญมากขึ้นและจะเน้นเรื่องการรักษาสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของตนเองเป็นหลัก คำนึงอนาคตคนรุ่นต่อไปน้อยลง ทำให้หลายประเทศติดกับดักเศรษฐกิจ การเมือง
การเปลี่ยนแปลงที่ 2 คือ การเติบโตของชนชั้นกลาง ประเทศไทยโชคดีแม้เข้าสู่สังคมสูงอายุ แต่อยู่ในพื้นที่ชนชั้นกลางขยายตัวเร็ว ทั้งจีน อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ โดยเติบโตเร็วเป็น 3 เท่าในช่วง 10 ปี เป็น 1,800 ล้านคน ในปี 2563 เร่งเกิดเมือง มีความก้าวหน้าเทคโนโลยี การเปลี่ยนวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ประกอบกับการเปลี่ยนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่จากภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคบริการ จะสร้างให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจอีกมาก และส่วนที่ 3 คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีอิทธิพลต่อกันและกันรุนแรงมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
สำหรับโจทย์สำคัญที่จะต้องเตรียมพร้อมกับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกในยุค 4.0 มี 5 เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ ต้องปรับภูมิทัศน์ของระบบเศรษฐกิจไทยให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด เรื่องที่ 2 พัฒนาคนไทยให้มีผลิตภาพสูง มีความสามารถในการปรับตัว สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต เรื่องที่ 3 ต้องเร่งดำเนินนโยบายส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค เพราะการขยายตัวเศรษฐกิจเอเชียจะทำให้เป็นเอเชียกลายเป็นเสาหลักเศรษฐกิจโลกและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการขยายตัวชนชั้นกลางสูง ซึ่งช่วยสร้างอุปสงค์ รวมถึงการปรับโครงส้รางเศรษฐกิจจีน นโยบายจีนการการเชื่อมโยงตามนโยบาย One Belt and Road 2015 เรื่องที่ 4 ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเปราะบาง ทำให้เกิดปัญหาในอนาคต เพราะเศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวน ธุรกิจต้องเข้าใจความเสี่ยงสมัยใหม่ และเรื่องที่ 5 ต้องรักษาพลวัตของการปรับตัวในยุค 4.0 ที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดเร็ว ภาคธุรกิจต้องปร้บตัวให้เหมาะสมสภาวะแวดล้อม การลงทุนต้องสร้างศักยภาพ นวัตกรรม พัฒนาบุคลากรที่สอดรับเทคโนโลยี หากนิ่งเฉยโลกยุค 4.0 จะทำให้สภาวะ 3 ต่ำ 2 สูง ส่งผลกระทบทุกคนรุนแรงขึ้น สร้างสภาวะที่ไม่พึงปรารถนาให้สังคมไทย
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ “ภาพรวมลึกเศรษฐกิจอาเซียนและตัวแปร ปี 2017″ ว่า ในอนาคตอาเซียนจะเป็นดาวเด่นในสายตานักลงทุน และจะเป็นโอกาสของนักลงทุนไทย เพราะรัฐบาลไทยวางเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางของฐานผลิตและตลาดของประชากร 230-240 ล้านคนในอาเซียน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยอนุมัติโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟและถนน เพื่อรองรับกับการที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลาง โดย EEC ถือเป็นโครงการที่จะเปลี่ยนโฉมประเทศไทยทำให้มีการลงทุน 4 ด้าน 15 โครงการ จึงขอให้นักลงทุนพิจารณาและค้นพบโอกาสที่รัฐบาลไทยสร้างขึ้น
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560 -2579) รวมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้านโลจิสติกส์ นับเป็นส่วนสำคัญ โดยประเทศไทยสามารถปรับลดต้นทุนด้านนี้ลงเหลือร้อยละ 14.1 ของจีดีพีในปี 2558 ที่ลดลงจากที่อยู่ในระดับร้อยละ 17.1 ในปี 2550 ทั้งนี้ จะต้องปรับปรุงต่อไป โดยมีการปรับปรุงโครงข่ายถนนและรถไฟจะมีการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปีที่ผ่านมาและปีนี้รวมถึง 56 โครงการ วงเงินลงทุน 2.295 ล้านล้านบาท โดยปีนี้จะลงทุนรวม 36 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 895,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเดินหน้าพัฒนาระบบ National Single Windows:NSW โดยแผนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ของประเทศจะช่วยให้ก้าวสู่โลจิสติกส์ 4.0 และจะต้องเกิดขึ้น โดยจะตั้งสำนักงานขึ้นมาดูแลเฉพาะอาจอยู่กรมศุลกากรหรือแยกออกมาเป็นการเฉพาะ. – สำนักข่าวไทย