23 ม.ค.- นายกฯ ไม่นิ่งนอนใจปัญหา PM 2.5 วิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากดาวอส สั่งการทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังแก้ปัญหา ทำทุกมาตรการให้เกิดผลโดยเร็ว
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้โพสต์ข้อความว่า กรณีฝุ่นควันประเทศไทย ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะทราบดีว่านี่คือวิกฤติสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ ระหว่างประชุม WEF ก็ได้มีการหารือกับทีมรัฐบาลในประเทศเป็นระยะ โดยวันนี้ได้ขอให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังแก้ไขฝุ่นควันทันที
เบื้องต้นให้รองนายกฯ อนุทิน ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ใช้กลไกตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บริหารสถานการณ์ฝุ่นควัน และเร่งจัดตั้งศูนย์ทำหน้าที่สื่อสารให้ข้อมูลกับประชาชน เพื่อให้คำแนะนำด้านการปฏิบัติตัว รวมถึงมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ผ่านช่องทางที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย โดยให้ท่านรองนายกฯ ภูมิธรรม เป็นที่ปรึกษา
และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีความต่อเนื่อง ให้ท่านรองนายกฯ อนุทิน ร่วมกับรองนายกฯ ประเสริฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ กำหนดมาตรการเฉพาะหน้าที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชน และบรรเทาสถานการณ์ให้ดีขึ้นโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น ตามมติ ครม. และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งประชุมกันไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วด้วย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประสานกับรัฐมนตรีอาเซียน ขอความร่วมมือแก้ปัญหาเรื่องนี้ร่วมกัน ขณะที่ในระยะสั้นนี้ ขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาปัญหา ดังต่อไปนี้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ตัดสินใจทันทีเรื่องการประกาศหยุดเรียนของนักเรียนในสังกัด กทม. ให้ กทม.ใช้ 9 มาตรการ เช่น เข้มงวดตรวจวัดตรวจจับรถยนต์ควันดำทุกประเภท ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนที่กำหนด, ขอความร่วมมือทำงานหรือปฏิบัติงานในที่พัก (Work From Home), เข้มงวดตรวจตราควบคุม ไม่ให้มีการเผาขยะหรือการเผาในที่โล่งทุกประเภท
กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินมาตรการงดการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ และกวดขันโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและปราบปรามเข้าตรวจสอบเป็นระยะ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บังคับใช้กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดกับผู้เผาป่า เผาตอซังข้าว ข้าวโพด อ้อยและพืช ในทุกหมู่บ้านทุกอำเภอทั้งประเทศ และตั้งศูนย์ปฏิบัติการในพื้นที่ 14 กลุ่มป่า ตั้งจุดเฝ้าระวังไฟในพื้นที่ป่า และแผนการจัดจ้างคนในชุมชนประจำจุดเฝ้าระวังอีก 1,585 จุด ดำเนินคดีกับผู้เผาป่า ด้วยกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ และบังคับใช้กฎหมายกับผู้เผา อาทิ กฎหมายสาธารณสุข กฎหมายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และประมวลกฎหมายอาญา โดยให้รายงานสถิติการจับกุม
กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการห้ามนำเข้าอ้อยไฟไหม้ รวมทั้งพืชเกษตรอื่นๆ ที่ผ่านการเผาอย่างเด็ดขาด และให้ตรวจสอบตามด่านพรมแดนที่มีการนำเข้าอย่างเข้มงวด
กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้กวดขันจับกุม ห้ามใช้ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำเกินมาตรฐานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะรถปิคอัพ รถโดยสาร รถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ปล่อยควันดำ รวมทั้งรถโดยสารของ ขสมก. และรถร่วมบริการเส้นทางต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของรัฐ โดยขอให้ตรวจสอบและกวดขันการจับคุมอย่างเข้มงวด และในกรุงเทพมหานคร ขอให้กองบังคับการตำรวจจราจรตั้งด่านตรวจควันดำใน 4 มุมเมืองของกรุงเทพมหานคร
กระทรวงมหาดไทย กำชับให้ กทม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ควบคุมการก่อสร้างในเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันการปล่อย PM 2.5 จากไซต์งานก่อสร้าง รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดให้กับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือมาตรการดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เผาและให้รายงานสถิติการดำเนินการ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขอให้ขึ้นบินปฏิบัติการต่อเนื่องในการเจาะชั้นบรรยากาศเร่งระบายและลดการสะสมของฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ กรมการข้าว และ กรมฝนหลวง และการบินเกษตร ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการทำเกษตรกรรมแบบปลอดการเผา
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนา Platform ฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับ hotspot และ ventilation โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม หรือ low cost sensors เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ในการแก้ปัญหาการฟุ้งกระจายของ PM 2.5 อย่างบูรณาการ กระทรวงการต่างประเทศ หารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมมือและให้ความช่วยเหลือในการลดปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน
กระทรวงสาธารณสุข ให้ สธ. ทั่วประเทศ คุมเข้ม 5 มาตรการ
- (1) ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขเตรียมพร้อม
- (2) เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างความรอบรู้ภัยสุขภาพ
- (3) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ (สสจ.) จัดทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ลงพื้นที่ดูแลกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง
- (4) ขยายบริการด้านการแพทย์สาธารณสุขให้ครอบคลุม เช่น เพิ่มห้องปลอดฝุ่น มุ้งสู้ฝุ่น
- (5) สนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย อย่างเร่งด่วนต่อไป
ฝุ่นควัน คือวาระแห่งชาติ รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจและจะเดินหน้า ทำทุกมาตรการให้เกิดผลโดยเร็ว 314.-สำนักข่าวไทย