กรุงเทพฯ 25 ก.พ.-มหาดไทยห่วงประชาชนหวั่นพายุฤดูร้อนสร้างความเสียหายชีวิตและทรัพย์สิน สั่งอปท.ตรวจสอบสภาพความมั่นคงแข็งแรงของป้ายต่าง ๆ
นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เนื่องจากในขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูร้อน มักจะเกิดพายุฤดูร้อนและพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง ซึ่งอาจทำให้อาคารบ้านเรือน และป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือที่มีสภาพชำรุดล้มลงมาทำให้พี่น้องประชาชนได้รับบาดเจ็บ สร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นและดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้ทุกจังหวัดกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ในพื้นที่ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ตรวจสอบความปลอดภัยของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่รับผิดชอบ
“ให้เข้มงวดการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารอย่างเคร่งครัด เช่น ในกรณีที่ป้ายมีความสูงจากระดับฐานตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป นอกจากมีวิศวกรเป็นผู้คำนวณและรับรองความมั่นคงแข็งแรงแล้ว ยังต้องตรวจสอบงานโดยวุฒิวิศวกรสาขาวิศวกรรมโยธาด้วย หากพบป้ายที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ให้ออกคำสั่งให้เจ้าของป้ายระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง และสั่งห้ามใช้ป้ายดังกล่าว ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องสั่งให้รื้อถอนทันที ส่วนป้ายที่ได้รับอนุญาตแล้วแต่มีสภาพเก่า ชำรุด บกพร่องและไม่ปลอดภัย ต้องแจ้งเจ้าของป้ายแก้ไข หากไม่แก้ไขให้รื้อถอนป้ายดังกล่าวเช่นกัน” รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว
นายชยพล กล่าวว่า สำหรับป้ายที่ติดตั้งบนพื้นดินที่มีความสูง 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป และป้ายที่ติดตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้าของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป เข้าข่ายเป็นอาคารที่ต้องตรวจสอบตามกฎหมาย หากป้ายดังกล่าวก่อสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี เจ้าของป้ายต้องจัดหาผู้ตรวจสอบที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการควบคุมอาคารมาตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและระบบอุปกรณ์ต่างๆ และต้องส่งรายงานผลการตรวจสอบให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบ
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงระหว่างวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ พบว่า บริเวณประเทศไทยจะมีอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนองและลมกรรโชกแรงเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะในส่วนของอาคารและบ้านเรือนที่พักอาศัย กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งกำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัคร ร่วมกันแจ้งเตือนประชาชนให้ช่วยกันสอดส่องดูแลให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง และสำรวจตรวจสอบบริเวณโดยรอบบ้านที่อาจมีต้นไม้หรือวัสดุอุปกรณ์หักโค่นลงมาทับบ้านเรือนได้รับความเสียหายได้
“ให้ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนในชุมชน และหากพบว่าตัวบ้านและบริเวณโดยรอบมีความเสี่ยงจะหักโค่นล้มทับลงมา ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการตรวจสอบทันที พร้อมให้ทางจังหวัด กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้ประสานหน่วยงานทหารในพื้นที่ เครือข่ายอาสาสมัครทุกภาคส่วน และจัดชุดเฝ้าระวัง เจ้าหน้าที่เผชิญเหตุ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยให้พร้อมเข้าให้การช่วยเหลือหากเกิดเหตุ ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง” รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว.-สำนักข่าวไทย