กรุงเทพฯ 23 ก.ค. – บีทีเอสหวังชนะประมูลสายสีส้ม 1.4 แสนล้าน ลั่นพร้อมลงทุนระบบราง-โครงสร้างพื้นฐานร่วมฟื้นประเทศ
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(บีทีเอสซี) กล่าวว่า บีทีเอสมีความสนใจที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการในโครงการที่จะมีขึ้นในอนาคตของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ล่าสุดประกาศให้เอกชนร่วมลงทุนสายสีส้ม มูลค่ากว่า 140,000 ล้านบาท ระยะทาง 35.9 กม. ใน 28 สถานี และจะเริ่มประมูล 2 เดือนข้างหน้า โดยบีทีเอสหวังว่าจะชนะการประมูล ทั้งนี้ มีหลายโครงการที่ภาครัฐอยากให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม คือ 1 ในเอกชน ซึ่งบีทีเอสมีความพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเข้ามาพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานให้มีความยั่งยืน โดยใช้ความสามารถของเอกชน
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันบีทีเอสให้บริการรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง ได้แก่ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เปิดบริการมาแล้ว 20 ปี มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการประชาชนทั้งสิ้น 52 สถานี รวมระยะทางการให้บริการ 58.32 กิโลเมตร (กม.) และจะพัฒนาส่วนต่อขยาย โดยทางทิศใต้จะเปิดจนถึง จ.สมุทรปราการ ทิศเหนือ เริ่มทยอยเปิดไปแล้วขณะนี้เปิดถึงสถานีวัดพระศรีและสิ้นปี 2563 จะเปิดถึงสถานีคูคต ทำให้มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 59 สถานี รวมระยะทาง 68.25 กม. 2.โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงินโครงการ 31,680 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 34.5 กม. รวม 30 สถานี 3.โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 31,680 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 30.4 กม. รวม 23 สถานี
“รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองคืบหน้ากว่า 50% เป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลสายแรกของประเทศไทย คาดว่าปลายปีหน้าจะเปิดบริการทั้ง 2 สาย แต่ยังไม่เต็มโครงการ เนื่องจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่ และตามนโยบายไทยเฟิร์ส โดยรถไฟฟ้าทั้งสายสีชมพูและสีเหลืองจะเริ่มใช้คนไทยทำงานโยธาโดย บมจ.ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และมีอุปกรณ์หลายอย่างที่ขอให้ผลิตในไทย เพื่อการซ่อมบำรุง การส่งออก จนถึงการนำไปทำสายอื่นในอนาคต” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า 4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดเล็ก ระยะทางประมาณ 1.80 กม. แบ่งเป็นระยะที่ 1 จำนวน 3 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสาน เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ฝั่งธนบุรีที่มีการพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพ ขณะนี้ระบบโยธาเสร็จ 96% และคาดว่าเปิดบริการเดือนตุลาคมนี้
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากรถไฟฟ้าแล้วก็ได้ร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาจากโครงสร้างพื้นฐาน ขยายไปในส่วนที่เป็นระบบคมนาคมขนส่งอื่น ๆ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โดยบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมกันของ 3 บริษัท (กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS) ได้แก่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกันลงทุนกว่า 290,000 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลา 4 ปีครึ่งจะเสร็จ เพื่อเป็นสนามบินแห่งที่ 3 ของ กทม.และเพิ่มศักยภาพการบินของประเทศไทย
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า บีทีเอสยังร่วมกับพันธมิตรอีกกลุ่มในการประมูลมอเตอร์เวย์ 2 สาย ของกรมทางหลวง ได้แก่ 1.โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา (M6) คาดใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี ดำเนินการโดยกิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และบมจ.ราชกรุ๊ป มูลค่าโครงการกว่า 21,329 ล้านบาท และ 2.โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มูลค่าโครงการกว่า 17,809 ล้านบาท ระยะทาง 96 กม. ดำเนินการโดยกิจการร่วมค้า BGSR .-สำนักข่าวไทย