รัฐสภา 23 ก.ค.-“จตุพร” ให้ความเห็น กมธ.สร้างปรองดอง เตือนนักศึกษายึดมั่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ อย่าก้าวล่วงสถาบัน เรียกร้องนายกฯ พูดคุยกับนักศึกษาหาทางออกร่วมกัน
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้รับเชิญจากอนุกรรมาธิการศึกษา ทบทวน การปฏิรูปกฎหมาย ในคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่เชิญบุคคลจากหลายฝ่าย ทั้งกลุ่มพันธมิตร ,กปปส. และ นปช. รวมถึงวุฒิสภา และผู้แทนรัฐบาล ที่เป็นคู่ขัดแย้งในอดีต เพื่อมาให้ความเห็นสร้างความปรองดองสมานฉันท์คนในชาติ เพื่อลดความเกลียดชัง
นายจตุพร กล่าวถึงการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาว่า เป็นการแสดงออกของคนหนุ่มสาว แต่ขอให้นักศึกษาที่ออกมาชุมนุมต้องยึดถือข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้ออย่างเคร่งครัด จึงจะได้รับการยอมรับจากประชาชน และต้องไม่ก้าวล่วงสถาบัน เพราะจะทำให้ข้อเรียกร้อง กลายเป็นจุดอ่อน และจะนำพาความสูญเสียมากมาย
“การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในอดีตที่มีความแข็งแรง นักศึกษาจะถือธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ แม้จะเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ก็ทรงเปิดสวนจิตลดาให้ประชาชนเข้าไปหลบภัย มีการพระราชทานเพลิงศพวีรชนที่ท้องสนามหลวง นอกจากนี้ยังเห็นว่าข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการยุบสภา ย้อนแย้งกัน เพราะถ้ายังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิม บ้านเมืองก็กลับมาเหมือนเดิม การเตือนนี้ ไม่ได้ต้องการทำให้นักศึกษาเกิดความหวาดกลัว แต่ห่วงใยว่าหากต่อสู้อย่างไร ก็จะได้รับผลลัพธ์อย่างนั้น ถ้ายึดข้อเสนอ 3 ข้อ ไม่ก้าวล่วงสถาบัน ก็มั่นใจว่าจะได้รับแนวร่วมจากประชาชน แต่ถ้าไปก้าวล่วงสถาบัน ก็จะเกิดจุดจบเหมือนกัน จึงกังวลจะเกิดความสูญเสียเหมือนในอดีต และขอให้นักศึกษาตั้งสติและยึดมั่นว่า ประเทศไทยจะต้องปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงจะเป็นภูมิต้านทานของคนหนุ่มสาว” นายจตุพร กล่าว
นายจตุพร ยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ลงมาพูดคุยกับนักศึกษา เพราะข้อเสนอต่าง ๆ สามารถพูดคุยทำความเข้าใจกันได้ ส่วนสภาฯ สามารถเป็นเวทีพูดคุย แสดงความเห็นส่งสัญญาณเตือนทุกฝ่าย และเรื่องนี้จะจบลงอย่างสง่างาม ด้วยการที่นายกรัฐมนตรี เปิดเวทีพูดคุยกับนักศึกษา ประกาศไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ ก็จะเป็นทางออก
นายจตุพร ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงที่หลายฝ่ายสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรม โดยระบุว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์การนิรโทษกรรมหลายครั้ง โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมรัฐประหาร และกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อเป็นการผ่อนคลายบรรยากาศบ้านเมือง ลดความขัดแย้ง แต่ความขัดแย้งในวันนี้ เปลี่ยนไป ไม่เหมือนอดีต และสภาพการประเทศไทย ยังประสบความลำบากทางเศรษฐกิจ สังคมมีความโหดร้าย ดังนั้นสถานการณ์ทางการเมืองจะหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าแต่ละฝ่ายยังยึดความเชื่อของตนเอง จึงอยากขอให้แต่ละฝ่ายรักษาไว้ซึ่งชาติบ้านเมือง.-สำนักข่าวไทย