ก.สาธารณสุข 24 มิ.ย.- สธ.-สสส.-ศบช.ให้. อสม. เคาะประตูบ้านค้นหาคนอยากเลิกบุหรี่ นำเข้าระบบให้การช่วยเหลือ พร้อมติดตามนาน 1 ปี
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึง “โครงการรวมพลังตามหาคนอยากเลิกบุหรี่.” ที่สธ.ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)ออกค้นหาคนอยากเลิกบุหรี่ ว่า เข้าใจว่าการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่เป็นหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล ควบคู่กับสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่ล่าสุด ทาง สสส. ได้รณรงค์ชวนคนเลิกสูบบุหรี่โดยใช้กลไก อสม. ซึ่งกระจายตัวทั่วประเทศ ให้มีการเคาะประตูบ้านชวนคนเลิกบุหรี่ต่อเนื่องจากโครงการที่เคยทำมาก่อน ตั้งเป้ารอบนี้สามารถช่วยคนเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น และไม่มีนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ไม่มีคนป่วยจากบุหรี่เพิ่ม จะได้นำงบประมาณที่ต้องจ่ายค่ารักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่ไปใช้เพื่อประโยชน์ประเทศด้านอื่นต่อไป
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี สบส. กล่าวว่า ขณะนี้ อสม.มีภารกิจที่ต้องติดตามดูแลสุขภาพจิตประชาชน หลังโรคโควิด-19 คลี่คลาย รวมถึงคำแนะนำในการใช้วิถีชีวิตใหม่ ก็จะใช้โอกาสนี้ในการค้นหาผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ด้วย เมื่อพบจะมีการขอชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เพื่อส่งต่อยังสายด่วน 1600 เพื่อเข้าไปให้การช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่ต่อไป โดยตั้งเป้าให้เป็นพื้นที่ปลอดทั้งโควิด-19 และปลอดบุหรี่ด้วย
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะเริ่มในเดือน ก.ค.นี้ โดยเมื่อได้รับข้อมูลคนต้องการเลิกบุหรี่ที่ถูกส่งต่อมาจาก อสม. ทางสายเลิกบุหรี่ 1600 ก็จะประสานกลับไปให้การช่วยเหลือ รวมถึงการตั้งรับโดยเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ 42 คู่สายรับเรื่องและส่งต่อผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาฟรี โดยทุกคนที่เราให้คำปรึกษาจะมีการติดตามต่อเนื่องไป 1 ปี โดยเฉพาะช่วง 1-2 สัปดาห์แรกซึ่งเป็นช่วงสำคัญในการเลิกบุหรี่.
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์การสูบบุหรี่ถือว่ามีแนวโน้มที่ดี โดยลดลงเหลือร้อยละ 19.1 จากข้อมูลของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ปี 2560 พบคนไทยเสียชีวิตเพราะบุหรี่ถึง 72,656 คน โดยผู้เสียชีวิตแต่ละคนเสียชีวิตเร็วขึ้น 18 ปี โดยเฉลี่ยต้องทุพพลภาพก่อนเสียชีวิต 3 ปี ทั้งนี้ การสูบบุหรี่ยังทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 87,250 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.56. ของจีดีพี และคิดเป็น ร้อยละ 15. ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ แบ่งเป็นต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 77,173 ล้านบาท ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 8,891 ล้านบาท ดังนั้นโครงการนี้จึงหวังว่าจะช่วยลดจำนวนนักสูบให้ได้มากที่สุด
รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผอ. ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) หรือ สายเลิกบุหรี่ 1600 กล่าวว่า การเลิกบุหรี่ที่ได้ผลที่สุดคือคนสูบต้องมีความสมัครใจเลิกเอง อย่างไรก็ตามมีเพียงร้อยละ 5. เท่านั้น ที่สามารถเลิกบุหรี่เองสำเร็จ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เลิกไม่สำเร็จ เพราะความอยากนิโคติน และความเครียดเป็นต้น ดังนั้นการที่ได้ อสม.ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดในชุมชน รู้จักคน และเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจเข้าไปค้นหาและนำคนอยากเลิกเข้ามาสู่ระบบให้การช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่ สายเลิกบุรี่ 1600 จึงมีโอกาสที่จะสำเร็จ เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้สำเร็จถึงร้อยละ 32. -สำนักข่าวไทย