นครราชสีมา 2 มิ.ย.-หญิงวัย 33 ปี ป่วยทางจิต ผูกคอตาย ใกล้กันพบลูกชายวัย 11 ขวบ จมน้ำเสียชีวิต คาดแม่จับลูกกดน้ำดับ ก่อนผูกคอตาย เจ้าหน้าที่เร่งนำศพส่งชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิต
เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ไปตรวจสอบเหตุคนผูกคอตายที่บ้านพักคนงานติดกับบ่อทราย หมู่ที่ 8 ตำบลชุมพวง อำเภอชุมพวง พบหญิงอายุ 33 ปี ใช้เชือกผูกคอกับโครงใต้หลังคาเสียชีวิต แต่มีพิรุธน่าแปลกใจ คือ สภาพเนื้อตัวเปียกน้ำและเปื้อนดินโคลน ใกล้กับจุดเกิดเหตุพบรถจักรยานยนต์จอดทิ้งไว้ ส่วนบริเวณริมฝั่งสระน้ำขนาดใหญ่ พบรอยเท้าเปื้อนโคลน และรองเท้าเด็กวางอยู่
ต่อมาญาติผู้เสียชีวิตแจ้งว่า ผู้ตายขับขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านพร้อมกับลูกชายวัย 11 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.5 แต่ไม่พบเด็กชาย ก่อนสันนิษฐานว่าเด็กอาจจะจมน้ำ เนื่องจากพบร่องรอยเท้าเด็กและผู้ใหญ่อยู่ริมฝั่ง จึงประสานเจ้าหน้าที่ชุดประดาน้ำลงค้นหา ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง จึงพบร่างเด็กชายเสียชีวิตจมอยู่ก้นสระน้ำ ท่ามกลางความเศร้าสลดของญาติๆ และชาวบ้านที่มามุงดูเหตุการณ์
เบื้องต้นญาติๆให้การว่าผู้เสียชีวิตมีอาการป่วยทางจิตเวช รับประทานยาเป็นประจำ มีลูกชาย 1 คน คือ น้องวัย 11 ขวบ กับสามีชาวต่างชาติ ก่อนนี้เคยมีอาการทางประสาทเพ้อว่ามีคนตามฆ่าและอยากพาลูกชายไปอยู่ด้วยกันบนสวรรค์ สันนิษฐานว่าอาจจะลงมือฆ่าลูกชายตัวเอง โดยจับกดน้ำจนเสียชีวิต ก่อนผูกคอตัวเองตายตามลูก อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งร่าง 2 แม่ลูกไปชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เพื่อสรุปสำนวนคดีต่อไป
คำแนะนำจากกรมสุขภาพจิต สำหรับวิธีป้องกัน หรือดูแลบุคคลที่เข้าข่ายอาจจะฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง ขอให้บุคคลรอบข้าง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด คอยสังเกตสัญญาณเตือน หากพบว่าบุคคลใกล้ชิดมีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง ตามหลัก 3 ส. คือ
1. สอดส่อง มองหา ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือผู้ที่มีการส่งสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย
2. ใส่ใจรับฟัง ด้วยความเข้าใจ ชวนพูดคุย ให้ระบายความรู้สึก ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ โดยการรับฟังอย่างใส่ใจนั้นเป็นวิธีการที่สำคัญมีประสิทธิภาพมาก
3. ส่งต่อเชื่อมโยง เช่น การแนะนำให้โทรปรึกษาคลินิกคลายเครียด เพื่อแนะนำเทคนิคและวิธีการในการคลายเครียดให้กับผู้รับบริการ หรือสามารถโทรขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงแอปพลิเคชันสบายใจ (Sabaijai) แนะนำให้ไปพบบุคลากรสาธารณสุขหรือช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน.-สำนักข่าวไทย