สธ.29 พ.ค.-กระทรวงสาธารณสุข-ศึกษาธิการ ออกแบบคู่มือเปิดเรียนยุคโควิด -19 เน้น 6 มิติ การเรียน คู่การคุมโรค เผยผลทดลองเปิดเรียนเว้นระยะห่าง พบ 1 ห้อง นั่งเรียนได้แค่ 25 คน
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียน ว่า กรมอนามัย ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในการจัดทำคู่มือการเปิดภาคเรียนเพื่อควบคุมป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในโรงเรียน โดยเน้นย้ำ 6 มิติ คือ
1.ความปลอดภัยจากการแพร่เชื้อโรค
2.การเรียนรู้ อาจจะต้องทำรูปแบบที่เหมาะสมทั้งที่ห้องเรียนและออนไลน์ ทุกคนต้องฝึกการดูแลตัวเอง เช่น รับประทานอาหารอย่างไร เข้าแถวอย่างไร ใช้หน้ากากอย่างไร เป็นต้น
3.ต้องคำนึงถึกเด็กทุกคน ต้องออกแบบให้เหมาะสม รวมถึงเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น หน้ากากอนามัยบางคนไม่มีก็เตรียมไว้เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้มาโรงเรียนตามปกติ
4.เรื่อง สวัสดิภาพและการคุ้มครอง การเจ็บป่วยในโรงเรียน โดยเฉพาะโควิด-19 หรือครอบครัวมีคนป่วยจะทำอย่างไรให้เด็กได้รับการดูแล ไม่ถูกรังเกียจ
5.นโยบาย นโยบายร่วมกระทรวงสาธารณสุข และศึกษาฯ ซึ่งต้องลงลึกไปในระดับพื้นที่ ทุกพื้นที่ จะต้องออกแบบถึงระดับโรงเรียน ในการบริหารจัดการจัดชั้นเรียนใหม่ เติมอุปกรณ์ที่จำเป็นให้เด็กเพิ่มเติม จัดจุดล้างมือเพิ่ม โรงอาหารทำฉากกั้นเพื่อให้เด็กใช้งานได้
และ 6.บริหารการเงินเพราะต้องมีการจัดชั้นเรียนใหม่และการเติมอุปกรณ์จำเป็นที่มากขึ้นด้วย จึงต้องวางแผนบริหารทรัพยากรก่อนเปิดเรียน
พร้อมเผยผล ทดลองเปิดเรียนใน รร.อนุบาลพิบูลเวช ย่านสุขุมวิท 1,000 คน พบว่าเด็กให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัยดี การล้างมือเดิมจะล้างเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร ก็จะเพิ่มการล้างมือก่อนเข้าห้องเรียน ก่อน-หลังแปรงฟัน ล้างเมื่อเปลี่ยนการทำกิจกรรม
ส่วนเรื่องห้องเรียนซึ่งมีทั้งปรับอากาศและไม่ปรับอากาศ เฉลี่ย 1 ห้องเรียนเด็กมี 40 คน เมื่อทดลองจัดเว้นระยะห่าง1 เมตรจะเหลือประมาณ 25 คน ส่วนที่เหลืออาจผลัดกันเรียน หรือเรียนออนไลน์
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวด้วยว่า ขอให้โรงเรียนประเมินตัวเองผ่าน thaistopcovid รวมถึงผู้ปกครองร่วมประเมินด้วย เพื่อให้สามารถจะทำแผนและส่งคืนไปยังจังหวัดใช้ประเมิน และออกแบบวิธีการในพื้นที่ของตน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมและการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและหน่วยงานด้านสาธารณสุข ผู้ปกครอง ที่ต้องทำงานร่วมกันมากขึ้น
ส่วนรถโรงเรียนต้องมีผู้ดูแลสุขอนามัย และคนขับ ต้องประเมินความเสี่ยงคนขับเป็นระยะ ระหว่างโดยสารต้องเว้นระยะพอสมควร สวมหน้ากากอนามัยตลอด ล้างมือบ่อยๆ ก่อนเข้าเรียน .-สำนักข่าวไทย