กรุงเทพฯ 21 พ.ค.- ขั้นตอนช่วยเหลือนักกีฬาอาชีพของภาครัฐ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
กีฬาถือเป็นอาชีพ อีกแขนงหนึ่ง และนักกีฬาอาชีพ ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกัน เพราะพวกเขาต้องหาเงินหล่อเลี้ยงชีวิตจากการแข่งขัน ไม่มีเงินเดือนประจำ เมื่อไม่มีแมตช์แข่งขัน ทั้งในและต่างประเทศ ก็ทำให้ขาดรายได้ไป
ฟรองซ์ พงศภัค เกิดลาภี นักหวดทีมชาติไทยวัย 22 ปี ยอมรับว่า เดือดร้อนจากปัญหาโควิด-19 เพราะทำให้ไม่มีรายได้จากการแข่งขันเลย
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เล็งเห็นปัญหาตรงจุดนี้ จึงมีมติอนุมัติเงินเยียวยา 182,200,000 บาท เพื่อช่วยเหลือ ทั้ง 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.นักกีฬาอาชีพ 2.บุคลากรกีฬาอาชีพ 3.สมาคมกีฬาอาชีพ 4.สโมสรกีฬาอาชีพ และ 5.ผู้จัดการแข่งขัน ใน 13 ชนิดกีฬาอาชีพ คือ แบดมินตัน, โบว์ลิ่ง, ฟุตบอล, กอล์ฟ, สนุกเกอร์, เทนนิส, ตะกร้อ, วอลเลย์บอล, บาสเกตบอล, เทเบิลเทนนิส, กีฬาแข่งรถยนต์, แข่งรถจักรยานยนต์ และมวยไทย
สำหรับขั้นตอน 1 ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักกีฬา บุคลากร หรือสโมสรกีฬาอาชีพในระบบของการกีฬาแห่งประเทศไทยก่อนภายใน 31 พฤษภาคมนี้ ลงทะเบียนผ่านออนไลน์ หน้าเว็บ www.thaips.org จากนั้น จึงเข้าลงทะเบียนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ลงทะเบียนอีกรอบหนึ่ง
บุคลากรกีฬาอาชีพที่มีสิทธิจะต้องไม่เป็นข้าราชการ, พนักงานของรัฐ, รัฐวิสาหกิจ หรือเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่มีรายได้ประจำ หรือเป็นเจ้าของกิจการที่ยังประกอบกิจการอยู่ และต้องไม่ซ้ำซ้อนกับผู้ที่ได้รับเงินจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”
หากผ่านเกณฑ์ นักกีฬาจะได้รับคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาทต่อคน จะเริ่มจ่ายเงินในเดือนมิถุนายน สโมสร หรือ สมาคม ต้องลงทะเบียนในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับเงินเยียวยาสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท แต่อาจจะได้ไม่ถึง 500,000 เช่นกัน แล้วแต่ความเดือดร้อน
ดลรวี ตุ้มทอง นักหวดสาววัย 18 ปี ยอมรับว่า กำลังศึกษา และสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการนี้
ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการจากภาครัฐ ที่ไม่ทิ้งคนกีฬา เหมือนดังประโยค ที่ว่า เราไม่ทิ้งกัน.-สำนักข่าวไทย