กรุงเทพฯ 13 พ.ค. – BGRIM กำไรไตรมาส 1/2563 เติบโต 54% จากขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง พร้อมการเข้าซื้อกิจการหนุน รวมถึงมีลูกค้าอุตสาหกรรมเข้ามาเพิ่ม ทำแผนปรับตัวรับโควิด-19 ยืดเยื้อ ย้ำธุรกิจมีความแข็งแกร่ง เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าตามแผน คงเป้าหมายขยายไฟฟ้า 5 พันเมกะวัตต์
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ว่า มีรายได้จากการขายและการให้บริการ เติบโต 9.4% ที่ 11,223 ล้านบาท กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลกำไร/ขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากมูลค่าทางบัญชีของเงินกู้สกุลต่างประเทศ) อยู่ที่ 1,158 ล้านบาท เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ 682 ล้านบาท เติบโตถึง 54.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยมีสาเหตุหลักมาจากขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องถึง 944 เมกะวัตต์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จากสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 4 โครงการในปีที่แล้ว และการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2 แห่ง ได้แก่ โครงการ SPP1 ในปี 2562 และล่าสุดโครงการโรงไฟฟ้าอ่างทองเพาเวอร์ ขนาด 123 เมกะวัตต์ เดือนมีนาคม 2563 โดยปริมาณการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมยังคงมีความแข็งแกร่งในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยผลจากการมีสัดส่วนอุตสาหกรรมที่หลากหลาย มีกลุ่มลูกค้ามีการเติบโต ได้แก่ เช่น กลุ่มบรรจุภัณฑ์ โต 15.1% กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น 13.2% จากลูกค้าใหม่ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเพิ่มขึ้น 8.0% กลุ่มยางรถยนต์เพิ่มขึ้น 3.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีการทยอยจ่ายไฟให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมใหม่ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟใหม่รวม 26 เมกะวัตต์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาด้วย
ด้านการรับมือกับวิกฤติโควิค-19 นั้น บริษัทมีฐานะการเงินแข็งแกร่งมีเงินสดในมือถึง 21,000 ล้านบาท มีการประเมินกระแสเงินสดอย่างละเอียดภายใต้สมมติฐานสถานการณ์ต่าง ๆ มั่นใจแข็งแกร่งต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ และแผนการลงทุน ขณะเดียวกันบริษัทยังได้รับวงเงินสำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม 4,000 ล้านบาท รวมเป็น 9,000 ล้านบาท พร้อมรับหากวิกฤติโควิค – 19 มีความยืดเยื้อ
ด้านธุรกิจรายได้ส่วนใหญ่มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิค-19 สำหรับส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม ปริมาณการใช้ไฟฟ้าโดยรวมคงที่จากช่วงเดียวกันปีก่อน และยังมีลูกค้าใหม่ทยอยเข้ามาอีกในช่วงที่เหลือของปีรวม 30 เมกะวัตต์ และยังใช้แผนเชิงรุกในการลดต้นทุน คาดว่าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 34 ล้านบาท จากการขยายอายุการใช้งานของชิ้นส่วนอุปกรณ์บางชนิด และการประหยัดต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อปี จากการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซของโครงการต่าง ๆ ในช่วงปี 2562-2563
ขณะเดียวกันยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ray Power ในประเทศกัมพูชาขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 39 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำหลักชัย กำลังการผลิตติดตั้ง 13 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบ่อวิน วินด์ฟาร์ม 1&2 กำลังการผลิตติดตั้ง 16 เมกะวัตต์ มีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 4/2563 ถึงไตรมาส 1/2564 โดยบริษัทมุ่งเน้นวิเคราะห์การลงทุนและการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 5 พันเมกะวัตต์ (จากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนา) ในปี 2565. -สำนักข่าวไทย