ภูมิภาค 6 พ.ค. – สถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ แต่โลกใต้ทะเลกลับตรงกันข้าม เพราะหลังจากไม่มีนักท่องเที่ยวไปรบกวน ส่งผลให้ระบบนิเวศกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว พบฝูงฉลามครีบดำที่เกาะเต่า ส่วนที่เกาะสิมิลันพบฝูงโลมาปากขวดว่ายอวดโฉม
นายโกศล พงศ์ผดุงเกียรติ ผู้บริหารเกาะเต่ารีสอร์ท ระบุว่า ช่วงวิกฤติโควิด-19 ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต่างได้รับผลกระทบ เพราะต้องปิดกิจการ และงดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ แต่ในความสูญเสียรายได้ กลับพบธรรมชาติที่สวยงาม เพราะวันนี้ทีมอาสาสมัครครูสอนดำน้ำเกาะเต่ารีสอร์ 16 คน ลงสำรวจใต้ทะเลเกาะเต่า มีเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลางจังหวัดชุมพร บันทึกการสำรวจครอบคลุมแนวปะการังน้ำตื้นรอบเกาะเต่าบริเวณหาดทรายรีตอนเหนือ ตอนกลาง ตอนใต้ อ่าวโฉลกบ้านเก่า อ่าวโตนด อ่าวหินวง หาดทรายแดง อ่าวลึก อ่าวเต่าทองนอก เต่าทองใน และแหลมเทียน
การลงดำน้ำที่มีอุณหภูมิเฉลี่ย 29-31 องศาเซลเซียส พบปะการังหลากชนิด อาทิ ปะการังเขากวางอ่อน ปะการังสมอง อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ส่วนสัตว์ทะเลมีแวะเวียนมาไม่ขาด ทั้งเต่าทะเลตัวใหญ่ ฝูงฉลามครีบดำ หรือฉลามหูดำ 20-30 ตัว ซึ่งปกติธรรมชาติของฉลามครีบดำในช่วงกุมภาพันธ์-เมษายน จะมาผสมพันธุ์กันบริเวณนี้ทุกปี แต่ปีนี้คาดว่าไม่มีคนรบกวน จึงแห่กันมามากกว่าปกติ
ฝูงโลมาปากขวดว่ายอวดโฉมที่เกาะสิมิลัน
ไม่เพียงที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี แต่ที่หมู่เกาะสิมิลัน เกาะหูยง จ.พังงา ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เจ้าหน้าที่อุทยานบอกว่าในช่วงปิดการท่องเที่ยวทางทะเล เพื่อป้องกันโควิด-19 ที่หมู่เกาะสิมิลันถึงเกาะหูยง พบฝูงโลมาปากขวดมากถึง 50 ตัว เจ้าหน้าที่จึงบันทึกภาพไว้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ได้มีแค่ฝูงโลมาปากขวด 50 ตัวนี้เท่านั้น ยังมีฝูงโลมาอื่นว่ายน้ำอยู่ห่างออกไปจากจุดที่พบอีก 40 กิโลเมตรด้วย ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม มีการพบฝูงโลมา 100 ตัว ใกล้เกาะบอนเช่นกัน . – สำนักข่าวไทย