ทำเนียบฯ 24 เม.ย.-โฆษก ศบค. ชี้การคลายล็อก ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ไม่อยากให้เกิดการระบาดรอบสอง ระบุทีมที่ปรึกษา ศบค.ด้านเศรษฐกิจ อยู่ระหว่างประเมินก่อนส่งให้นายกฯ-ครม.พิจารณา
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.กล่าวถึงมาตรการของประเทศไทยในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อเทียบจำนวนการพบผู้ติดเชื้อกับต่างประเทศ โดยไทยพบผู้ติดเชื้ออยู่ที่หลักสิบคน ว่า มาตรการที่ไทยใช้มีหลายส่วนประกอบกัน โดยให้ความสำคัญกับชุดข้อมูล และนำมารายงานให้ประชาชนได้เข้าใจสถานการณ์นำไปสู่ความร่วมมือ รวมถึงการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับประเทศ ลงไปสู่ระดับจังหวัด ก่อนส่งต่อไปยังประชาชน ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี ประกอบกับระบบสาธารณสุขที่ดี และมีทีมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ลงพื้นที่ดูแลประชาชน 1 คนต่อ 10 ครัวเรือน ซึ่งการจะประสบความสำเร็จในการป้องกันโรคตัวเลขที่ผู้ติดเชื้อต้องใกล้เคียง 90 -100% และเครดิตนี้รางวัลสู่ความสำเร็จ ไม่ได้อยู่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากการร่วมมือกันของทุกฝ่าย
ส่วนที่หลายจังหวัดเริ่มประกาศให้สถานประกอบการ สถานที่บางประเภทกลับมาเปิดให้บริการ การจะคลายล็อกมีแนวโน้มอย่างไร แต่ละจังหวัดสามารถออกประกาศได้เองเลยหรือไม่ หรือต้องประสานกับ ศบค.ก่อน นั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องที่ต้องตัดสินใจในระดับสูงสุด คือ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. โดยต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะเป็นการออกกฎใหญ่ของประเทศ แต่เรื่องการผ่อนคลายเป็นเรื่องของจังหวัดที่จะพิจารณาตามกันมา และขณะนี้มีการตั้งคณะที่ปรึกษา ศบค.ด้านธุรกิจภาคเอกชน โดยเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน และมีภาคส่วนต่าง ๆ ด้านธุรกิจเข้าร่วม ซึ่งการควบคุมโรคเข้าไปควบคุมพฤติกรรมของคน ด้วยการให้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทำให้ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ดังนั้นการจะผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาว่ากิจการ หรือกิจกรรมใดที่จะได้รับการผ่อนปรนก่อน จากนั้นจึงส่งให้ ศบค.และ ครม.พิจารณา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อออกมาแล้ว คนส่วนใหญ่ต้องเห็นด้วย ไม่กระทบการแพร่ระบาดของโรค
“มีหลายคนบอกว่าเรามีเงินไม่พอ ตอนนี้เราต้องกู้กันมา เราจะเกิด Second Wave Third Wave หรือคลื่นภูเขาลูกที่ 2 ลูกที่3 ตามมาไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะสูญเสียเรื่องการเจ็บไข้ การเสียชีวิต และการเสียงบประมาณ ก่อนหน้านี้เคยมีการประเมินเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยต่อคนอยู่ที่ 1 ล้านบาท และตอนนี้มีผู้ป่วยกว่า 2 พันคน เท่ากับว่างบประมาณที่ใช้ไปมากกว่า 2 พันล้านบาท หากตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งกลับเป็นหลักพัน หลักหมื่นเหมือนต่างประเทศ ก็ต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างปัจจัยนี้ประกอบกัน บางคนบอกว่ายอมเสียเงินดีกว่าจะให้มีการเสียชีวิต หรือมาเจ็บไข้ เป็นญาติเรา เราก็ไม่ยอม และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เหมือนต่างประเทศที่ต้องตัดสินใจให้ใครอยู่ใครไป เพราะเป็นความสะเทือนใจของแพทย์ ดังนั้นสถานการณ์นี้ต้องคิดอย่างรอบคอบ” โฆษก ศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ ยังย้ำถึงค่ารักษาและเกณฑ์ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ว่า คนที่จะได้ตรวจฟรีต้องมีอาการร่วมกับปัจจัยเสี่ยง ดังนี้ 1.ประวัติมีไข้ มีอุณหภูมิกายตั้งแต่ 37.5 องศา 2.มีอาการไอ เจ็บ คอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก และเป็นผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ มีประวัติในช่วง 14 วัน ก่อนหรือเริ่มป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เดินทางไป หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เกิดโรคโควิด-19 มีอาชีพสัมผัสชาวต่างชาติ สถานที่แออัด หรือติดต่อกับคนจำนวนมาก ไปในที่ชุมชน เช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล หรือ สัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 โดยการตรวจรักษาสามารถไปตามสิทธิ์ที่แต่ละคนมี
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการลงพื้นที่บริจาคของให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มกันหลายพื้นที่จัดทำเป็นโมเดล เช่น วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือพื้นที่ในกรุงเทพฯ ผู้ที่ต้องการบริจาคสามารถเข้าไปลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ BKK HELP สามารถเลือกพื้นที่ในการบริจาคได้ จะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และแนะนำวิธีการแจกของที่ถูกต้องและปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับ ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถติดต่อไปยังศาลากลางจังหวัดและท้องที่ได้
“อยากให้ทุกคนออกแบบวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ New Norm ในสถานการณ์โควิด-19 ต้องสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับเปลี่ยน ต้องออกแบบวิถีกันใหม่ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เพราะยังต้องอยู่กับไวรัสตัวนี้อีกระยะหนึ่ง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย