กทม. 24 เม.ย. -กนกวรรณ ชื่นชม สช.-กองทุนสงเคราะห์ นำข้อห่วงใยไปสู่มาตรการช่วยเหลือ บุคลากรทางการศึกษาให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิด-19นี้ไปได้
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน รวมทั้งสภาพคล่องของโรงเรียนและสถานศึกษาเอกชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นข้อห่วงใยของตนมาตลอด จึงได้มอบให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)หารือร่วมกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนด้านภาระค่าใช้จ่ายของผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนโรงเรียนเอกชน ให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้ ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 ได้รับทราบมาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) สำนักงานกองทุนสงเคราะห์ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ ในการประชุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ใน 2 ส่วน คือ การงดคิดดอกเบี้ยและค่าปรับสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (กองทุนเลี้ยงชีพ) ลูกหนี้เดิม (โครงการ 1-4) เป็นระยะเวลา 6 เดือน (วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 ตุลาคม 2563) และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ จาก 4.5% ต่อปี เหลือ 4% ต่อปี (ยกเว้นโครงการที่ดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว) โครงการที่ 3-4 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป โดยมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว จะมีผลอัตโนมัติโดยที่สมาชิกไม่ต้องยื่นคำร้องใด ๆรวมทั้งมาตรการจัดตั้งสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) โครงการ 5 เพื่อขยายสิทธิ์ให้กับสมาชิกที่มีอายุงาน 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้มีสิทธิ์กู้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการด้วย โดยตนมองว่า เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของครูและบุคลากรใหม่ ๆ เหล่านี้ด้วย ส่วนครูที่เป็นสมาชิกมานานแล้ว ก็จะได้แบ่งเบาภาระในการชำระค่างวดที่น้อยลง
นางกนกวรรณ กล่าวว่า โครงการ 5 ได้เพิ่มวงเงินจากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 90 ของเงินสะสม โดยสมาชิกที่มีอายุงาน 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี กู้ได้ร้อยละ 90 ของเงินสะสม (3%) และส่งเงินสะสม 60 งวดขึ้นไปต่อเนื่อง และสมาชิกที่มีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป กู้ได้ร้อยละ 90 ของเงินสะสมและเงินสมทบ (12%) โดยส่งเงินสะสมและเงินสมทบ 120 งวดขึ้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป.-สำนักข่าวไทย