สธ. 22 เม.ย.- สธ. ห่วงภาวะโควิด-19 ทำคนไทยเครียด เสี่ยงซึมเศร้าฆ่าตัวตาย แต่ไม่หนักเท่าวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะโควิด-19 เป็นกันทั่วโลก ขอให้ยึดหลัก “อึดฮึดสู้” เพื่อผ่านวิกฤติ
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง เป็นวันที่ 2 แต่ขอให้คนไทยอย่าเพิ่งประมาท เพราะในต่างประเทศก็เห็นแล้วว่าหากประมาท ตัวเลขผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ ยังจำเป็น
อย่างไรก็ตามมาตรการในการต่อสู้กับโควิด-19 เชื่อว่าทำให้ทุกคนเครียด หากไม่จัดการจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ซึ่งขณะนี้มีการสำรวจ แบ่งเป็น 4 กลุ่มมีความเครียดอาจจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตายในที่สุด คือ 1.กลุ่มผู้ที่กักกัน ผู้ติดเชื้อ 2.กลุ่มเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิต 3.บุคลากรทางการแพทย์ ที่อาจจะมีปัญหาหมดไฟ และผิดหวังจากการรักษาคนไข้ไม่สำเร็จ และ 4. ประชาชนทั่วไป ชุมชน
นายสาธิต กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบว่าช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.63 ยังมีคนปรึกษาน้อย เฉลี่ยเดือนละ 20-30 คน แต่ตั้งแต่เดือน มี.ค.63 มีการใช้บริการมากขึ้นเป็นลำดับ คาดการณ์ว่าในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ จะมีคนมาใช้บริการสูงถึง 630 คน และพบว่ามีตั้งแต่ปรึกษาเรื่องความเครียดวิตกกังวล ร้อยละ 51.85 รองลงมาร้อยละ 37.99 เป็นกลุ่มจิตเวชเดิม ขณะเดียวกันมีเปิดบริการคู่สายเพิ่ม เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มาปรึกษาคลายเครียด พบว่ามีการใช้บริการน้อย แค่ 7-8 คน ส่วนใหญ่สามารถจัดการกับความเครียดได้ดี
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตของประชาชนจะแบ่งเป็นระลอกคลื่น มาตั้งแต่การระบาดรอบแรก รอบสอง ส่วนคลื่นระลอกที่ 4 จะมาหลังการระบาดราวๆ 1-2 เดือน เป็นปัญหาทางจิตใจ ปัญหาเศรษฐกิจ และภาวะหมดไฟ หรือความเหนื่อยล้าของคนทำงาน หลังเผชิญความเครียดมาเป็นเวลานาน ซึ่งที่ผ่านมากรมสุขภาพจิต ได้ทำการสำรวจความเครียดของกลุ่มต่างๆ 3 รอบ รอบล่าสุดคือ 13-19 เม.ย.63 พบว่า คนเครียดลดลงจากการสำรวจ 2 รอบแรก เพราะปรับตัวได้ แต่ก็มีประมาณร้อยละ 10 ที่ปรับตัวไม่ได้ ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนเครียดมากคือการตีตรา
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อไปว่า หากเปรียบเทียบภาวะความเครียดและอัตราการฆ่าตัวตายจากวิกฤติโควิด-19 และวิกฤติต้มยำกุ้ง พบว่ามีความแตกต่างกัน ภาวะต้มยำกุ้ง ในอดีตการจัดการความเครียดของคน อาจทำได้ไม่ดีพอ เพราะไม่มีเทคโนโลยีช่วย หรือสายด่วน 1323 กิจกรรมอื่น ปรึกษาคลายเครียด อีกทั้งภาวะโควิด-19 เป็นเหมือนกันทั่วโลก ทำให้ประเทศไทย มีอัตราการฆ่าตัวตายในภาวะต้มยำกุ้งสูง 8.59 ต่อแสนประชากร รอบนี้จะต้องช่วยกันไม่ให้มีการฆ่าตัวตายเพิ่มเกิน 1 คนต่อวัน ซึ่งขณะนี้อัตราการฆ่าตัวตายของไทยอยู่ที่ 6.31ต่อแสนประชากร โดยวิธีการแก้ ให้ อสม. ทำงานเชิงรุกเคาะประตูบ้านกลุ่มเสี่ยงเพื่อคัดกรองสุขภาพจิต หากมีปัญหาก็ส่งต่อจิตแพทย์ดูแล หรือคนทั่วไป สามารถโหลดแอปพลิเคชัน Mental Health Check Up เพื่อวัดระดับความเครียดของตัวเอง หากมีปัญหาให้รีบปรึกษาจิตแพทย์
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะเดียวกันเราต้องสร้างวัคซีนใจ ด้วยหลัก 4 ข้อ คือ 1.ทำให้สงบด้วยการมีสติ รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง 2.รู้จักวิธีป้องกันตัวเองได้ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้าน ในชุมชน 3.มีความหวัง สร้างความ หวัง เตรียมพร้อมเรื่องการประกอบอาชีพหลังมีการผ่อนปรนมาตรการ 4. ห่างกายเพื่อควบคุมโรค แต่ให้มีการพูดคุยกันได้อย่างสม่ำเสมอ ระหว่างญาติมิตร ทั้งโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวาร และดูแลสภาพจิตใจกันได้ และขอให้ยึดคาถา “อึด ฮึด สู้” ประเทศไทยเคยผ่านศึกมานับไม่ถ้วน อย่างน้ำท่วมปี 2554 .-สำนักข่าวไทย