กรุงเทพฯ 20 เม.ย. – กรมชลประทานทยอยลดการระบายน้ำเขื่อนลำปาว จากนั้นจะหยุดส่งน้ำในวันที่ 23 เมษายนนี้เนื่องจากข้าวนาปรังเก็บเกี่ยวหมดแล้ว เตรียมบำรุงรักษา ซ่อมแซมคลองและอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานและสำรองน้ำไว้กรณีฝนทิ้งช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์มาตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน จากนั้นปิดการส่งน้ำเข้าคลองชลประทานในวันที่ 23 เมษายน เนื่องจากเป็นช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง จากนั้นจะซ่อมแซม บำรุงรักษา ปรับปรุงคลอง และอาคารชลประทานเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพในฤดูช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยจะเริ่มส่งน้ำในได้ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมได้แน่นอนหากฝนทิ้งช่วงตามที่กรมอุตินิยมวิทยาคาดการณ์ไว้
สำหรับเขื่อนลำปาวนั้นได้รับประโยชน์จากอิทธิพลของพายุ “โพดุล” ที่พาดผ่านเข้ามาในพื้นที่ภาคอีสานฝั่งตะวันออกในช่วงเดือนกันยายน 2562 ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นถึง 1,742 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 88 ของความจุอ่างฯ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวสามารถวางแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะการทำนาปรังของเกษตรกรในพื้นที่ชลประทาน โดยเน้นย้ำให้คงบริหารจัดการน้ำด้วยมาตรการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าเพื่อให้มีปริมาณสำรองไว้ใช้กรณีฝนทิ้งช่วง
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า โครงการชลประทานในพื้นที่บริหารจัดการน้ำที่เกษตรกรระบายออกมาจากแปลงนาเพื่อรอการเก็บเกี่ยวข้าว ด้วยการนำไปเก็บกักไว้บริเวณด้านเหนือของเขื่อนทดน้ำที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำชีตอนล่าง ได้แก่ เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย ส่งผลให้เขื่อนทั้ง 3 แห่งมีปริมาตรน้ำเก็บกักบริเวณเหนือเขื่อนเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการใช้น้ำทำการเกษตรแบบหมุนเวียนโดยการเหลื่อมเวลาเพาะปลูก ส่งผลให้มีความมั่นคงด้านน้ำในการอุปโภคบริโภคไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้เกษตรกรทั้ง 2 ฝั่งของลำน้ำชีตอนล่าง มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาวว่า ปัจจุบัน (20 เมษายน) มีน้ำ 705 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ (ความจุอ่างฯสูงสุด 1,980 ล้าน ลบ.ม.) มีน้ำใช้การได้ประมาณ 605 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำวันละประมาณ 2.7 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการทำนาปรัง ทั้งยังมีน้ำเพียงพอที่จะสูบน้ำย้อนกลับไปเติมหน้าเขื่อนวังยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อการผลิตน้ำประปา 39 แห่งในจังหวัดมหาสารคาม รวมถึงช่วยเหลือการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานีอีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว วางแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยการบริหารจัดการน้ำสำหรับทุกกิจกรรมอย่างทั่วถึง ส่งผลให้เกษตรกรในเขตพื้นที่ชลประทานที่รับน้ำจากเขื่อนลำปาวสามารถเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้ทั้งนาข้าว พืชผัก และการประมงกว่า 300,000 ไร่ ขณะนี้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังกว่า 250,000 ไร่ ทยอยเก็บเกี่ยวข้าว ปีนี้ราคาข้าวค่อนข้างดีทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายข้าวไปใช้จ่ายในครอบครัว บางส่วนเริ่มไถเตรียมแปลงเพื่อเตรียมทำนาปีในฤดูฝนที่จะถึงนี้ ซึ่งทางกรมชลประทานกำหนดให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก รอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ส่วนน้ำในเขื่อนลำปาวนั้นสำรองไว้เพื่อส่งให้กรณีฝนทิ้งช่วงเพื่อให้เพียงพอเลี้ยงนาข้าวจนกระทั่งถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต . – สำนักข่าวไทย