ดีเอสไอ 17 เม.ย.-ดีเอสไอตั้งคณะทำงานคดี “โอ๊ค” พานทองแท้ ฟอกเงินกรุงไทย 10 ล้านบาท เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งหรือไม่ ตั้งกรอบให้ทัน 25 เม.ย.นี้ แจงคณะทำงาน มีความโปร่งใสรอบคอบ
นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ตามที่คณะอัยการคดีศาลสูง มีมติเอกฉันท์ไม่อุทธรณ์คดี นายพานทองแท้ ชินวัตร จำเลยคดีร่วมกันฟอกเงิน 10 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทยฯที่ปล่อยกู้ให้เครือกฤษดามหานคร ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองบริหารคดีพิเศษ พิจารณาเห็นว่า เป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงซับซ้อนเพื่อให้การพิจารณาในชั้นความเห็นแย้งเป็นไปโดยครบถ้วนและรอบคอบ เห็นสมควรพิจารณาในรูปคณะกรรมการ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว จำนวน 5 คน เพื่อมีความเห็นประกอบการพิจารณาสั่งของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
“กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการโดยเร็วและรอบคอบ หากสามารถมีความเห็นกลับไปยังพนักงานอัยการทันภายในวันที่ 25 เม.ย.นี้ ซึ่งครบขยายเวลาอุทธรณ์ก็จะดำเนินการในทันที แต่หากไม่เสร็จก็มีเหตุจำเป็นจะ ต้องมีหนังสือถึงพนักงานอัยการในฐานะโจทก์ เพื่อขอขยายเวลาอุทธรณ์ต่อศาลต่อไป โดยขอยืนยันว่าการพิจารณาเป็นการดำเนินการในรูปคณะทำงาน มีความโปร่งใส รอบคอบ และเป็นไปตามกฎหมาย” นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าว
พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษและรองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีหนังสือกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินคดีอาญากับนางเกศินี จิปิภพ, นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ,นายวันชัย หงษ์เหิน และนายพานทองแท้ ชินวัตร รวม 4 คน ในความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมกันฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน เพราะเหตุที่ได้สมคบกัน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับเป็นคดีพิเศษที่ 25/2560
โดยทางคดีทำการสอบสวนเสร็จสิ้นและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ต่อมาพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้องต่อศาล โดยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำพิพากษายกฟ้อง
จากนั้นพนักงานอัยการ ในฐานะโจทก์ ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา จำนวน 4 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ครั้งที่ 2 ศาลอนุญาต ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ครั้งที่ 3 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 มีนาคม 2563 โดยระหว่างนั้น (วันที่ 19 มีนาคม 2563) พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ (อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง)
ต่อมา วันที่ 26 มีนาคม 2563 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ (ฝ่ายคดีพิเศษ 4) ส่งสำนวนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมความเห็นไม่อุทธรณ์คำพิพากษามายังอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งหรือไม่ อันเป็นไปตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 34 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา145 และพนักงานอัยการได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา เป็นครั้งที่ 4 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 เมษายน 2563.-สำนักข่าวไทย