ผู้ตรวจการแผ่นดิน 15 เม.ย.-เครือข่ายณรงค์ทวงคืนความยุติธรรม นำ 5,000 รายชื่อช่างผม ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5 พัน หลังถูกปฏิเสธ ทั้งที่ต้องปิดร้านตามคำสั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้าน “ทนายรณณรงค์” ชี้กระทรวงเลือกปฏิบัติผิดรัฐธรรมนูญ ฉุนสั่งปิดประตูใส่ประชาชน
นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมด้วย นางกุลิสรา พานิช นายกสมาคมช่างผมมืออาชีพแห่งประเทศไทย นำรายชื่อสมาชิกสมาคมฯ จำนวน 5,126 คนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดร้านเสริมสวยและลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทผ่านเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ โดยว่าเป็นเกษตรกร หรือบางคนเป็นนักศึกษา จึงต้องการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบให้ได้รับเงินเยียวยาดังกล่าว โดยมีนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับเรื่อง
โดยนายรณณรงค์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวของภาครัฐเป็นการใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทั้งที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศครอบคลุมทุกพื้นที่ บังคับใช้กับทุกคนจึงไม่จำเป็นต้องมีการอุทธรณ์ ส่วนการอ้างว่าเป็นการพิจารณาของระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ต้องการให้ผู้ตรวจฯ ดำเนินการตรวจสอบว่าการดำเนินการของ AI รวมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังเกิดความผิดพลาดในการใส่ข้อมูล จนทำให้ประชาชนถูกปฏิเสธหรือไม่ รวมทั้งหากความผิดพลาดดังกล่าวมาจากกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การถูกระบุว่าเป็นเกษตรกร โดยที่บุคคลนั้นไม่เคยรู้เรื่อง และมีการนำข้อมูลนั้นไปเบิกงบอื่น ๆ ในปีงบประมาณที่ผ่านมา ก็ขอให้ดำเนินการกับคนที่นำข้อมูลเท็จดังกล่าวไปเบิกเงินภาษีประชาชนมาใช้ ทั้งที่บุคคลนั้นไม่ได้รับเงินดังกล่าว
“การที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าเราจะชนะไปด้วยกัน เราจะชนะได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีอาหารกิน” นายรณณรงค์ กล่าวและว่า รับไม่ได้กับการที่ปลัดกระทรวงการคลังสั่งให้เจ้าหน้าที่ปิดประตูใส่หน้าประชาชนที่ไปเรียกร้องเงินเยียวยาเมื่อวานนี้ (14 เม.ย.) ถือเป็นกระทำที่รุนแรงเกินไป เป็นการปฏิเสธประชาชนหรือไม่ เพราะข้าราชการไม่ควรปฏิบัติกับประชาชนแบบนั้น
ด้านนางกุลิสรา กล่าวว่า จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ช่างเสริมสวยได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งถูกสั่งปิดก่อนจังหวัดอื่น และเมื่อปิดทันที ทำให้เราไม่มีรายได้ แต่ยังคงมีรายจ่ายในเรื่องของค่าเช่าร้าน พอลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา ก็ได้เพียง 10-20% แต่ส่วนใหญ่ก็ถูกปฏิเสธถึงสองรอบ โดยระบุว่าเราเป็นเกษตรกร เป็นนักศึกษา ซึ่งการที่รัฐบาลสั่งปิดร้านกะทันหัน เราไม่ได้มีการเตรียมเงินไว้ล่วงหน้า การกินอยู่ยังพออยู่ได้ แต่เรื่องค่าเช่า ต้องจ่าย เช่น ช่วงเช้าที่ผ่านมา มีสมาชิกสมาคมฯ โทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือ แม้สมาคมฯ จะตั้งโดยถูกต้อง มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่เราไม่มีมูลนิธิหรือเรี่ยไรเงินกันเก็บไว้ เพื่อเป็นเงินเยียวยาในกรณีที่มีปัญหา ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ตรวจฯ จะมีการประสานให้ผู้ให้เช่าร้านผ่อนปรนการเก็บค่าเช่าร้าน
ด้านนายรักษเกชา กล่าวว่า จะเร่งนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะส่วนตัวก็ได้รับเรื่องร้องเรียน ประกอบกับการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวาน (14 เม.ย.) ผู้ตรวจฯ ได้มีการปรารภในเรื่องที่ประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูล ไม่มีโทรศัพท์ในการลงทะเบียน ระบบผิดพลาดตรงไหน ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ตรงกับปณิธานของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ระบุว่าประชาชนต้องอยู่ได้ ต้องได้รับการดูแล โดยที่ผ่านมาหลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 มีปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ หรือนโยบายทำงานที่บ้าน ผู้ตรวจฯ ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนดังกล่าวและเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาต่อรัฐบาล พร้อมกับติดตามการแก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา.- สำนักข่าวไทย