กทม.10 เม.ย.- สถิติฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศ ระหว่าง 3- 10 เมษายน มีทั้งสิ้น 4,138 คดี ผู้ต้องหา 5,264 คน
นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยสถิติคดีผู้ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 3-10 เมษายนมีคดีทั้งหมด 4,138 คดี, ผู้ต้องหา 5,264 คน เป็นชาย 4,054 คน หญิง 1,210 คน จำแนกตามช่วงอายุ ต่ำกว่า 18 ปี มี 91 คน ,อายุ 18-20 มี 470 คน , อายุ 20-35 ปี ช่วงวัยทำงาน 2,537 คน อายุ 35-55 ปี ช่วงวัยทำงาน 1,764 คน และอายุมากกว่า 55 ปี 402 คน สูงสุดคือ ฝ่าฝืนเวลาเคอร์ฟิว ส่วนผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน มีมาตรการพิเศษ ดำเนินการกับคนกลุ่มนี้ ในผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะลงโทษโดยหลีกเลี่ยงการฟ้องคดีขึ้นสู่ชั้นศาล
ส่วนมาตรการเพื่อความปลอดภัยในแนวทางของสำนักงานอัยการสูงสุด มอบหมายให้พนักงานอัยการทั่วประเทศ ที่ฟ้องคดีให้มีคำขอต่อศาลบังคับใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย โดยให้มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก หรือกรณีโทษปรับและให้รอการลงโทษ ขอให้มีคำสั่ง ลงโทษกักกันจำเลยในเคหะสถานทุกคดี ตามจำนวนวันที่ศาลเห็นสมควร เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 เช่น คดีในจังหวัดน่าน ศาลสั่งกักกันจำเลยในเคหะสถานเป็นเวลา 7 วัน เป็นต้น
นอกจากนี้ มีผลการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคดีบ่อนพนัน จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา โดยศาลจังหวัดนนทบุรี ได้รับสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวน ผู้ต้องหาจำนวน 122 คน พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลแขวงนนทบุรี ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดพร้อมบรรยายขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก การพิจารณาในชั้นศาลจำเลยให้การสารภาพ ศาลมีคำพิพากษาจำคุกเจ้าบ้าน 6 เดือน 15 วัน จำคุกผู้จัดให้มีการเล่นพนัน 3 เดือน 15 วัน ส่วนผู้เล่นพนันจำนวน 97 คน ลงโทษกักขังเป็นเวลา 15 วัน พร้อมสั่งปรับ คนละ 1,000 บาท
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุ ถึงโทษกักกัน หรือกักขัง ว่า แม้จะเป็นโทษที่ไม่ได้ส่งตัวจำเลยเข้าเรือนจำ แต่เป็นการสูญเสียอิสรภาพเช่นกัน แม้จะกักกันในบ้านจำเลยเอง หากพบว่ามีการฝ่าฝืนโทษกักกันจะมีโทษทางกฎหมายอีกด้วย โดยหากฝ่าฝืนไม่อยู่ในเคหะสถาน ตามคำพิพากษาศาล มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.-สำนักข่าวไทย