กรุงเทพฯ 7 เม.ย.-“ศักดิ์สยาม” รมว.คมนาคม สั่งรถเมล์-รถไฟฟ้า เพิ่มจำนวนรถก่อนเคอร์ฟิว 22.00 น. หลังประชาชนร้องเรียนรถไม่พอใช้บริการ แต่ย้ำยังต้องใช้มาตรการ social distancing เข้มงวด
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ต ลิงก์) เพิ่มจำนวนรถที่ให้บริการประชาชนในช่วงก่อน เคอร์ฟิว 22.00 น. และก่อนเริ่มวันใหม่เวลา 04.00 น. ทั้งนี้ ให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ขณะเดียวกันผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะยังต้องปฎิบัติตามหลักเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) โดยเคร่งครัด
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม.จะหารือกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ทันที เพื่อเพิ่มความถี่ของขบวนรถที่เข้าสถานีในช่วงเช้าที่เปิดให้บริการ และก่อนปิดให้บริการตามประกาศเคอร์ฟิวของภาครัฐ (22.00 น.-04.00 น.) ยอมรับว่าต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่ารถขบวนสุดท้ายที่จะออกจากสถานี คือ เวลา 21.30 น. ดังนั้นผู้โดยสารที่จะเดินทางกลับเคหสถานต้องเผื่อเวลาการเดินทางด้วย ทั้งนี้ ยอมรับว่าการทำ social distancing ทำให้แต่ละขบวนปกติจะรับผู้โดยสารสูงสุด 1,000 คน แต่ปัจจุบันรับผู้โดยสารได้ประมาณ 100 คนเท่านั้น
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์จะดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยลดความถี่ของรถที่เข้าสถานีในช่วงเปิดให้บริการและก่อนปิดให้บริการตามประกาศเคอร์ฟิว โดยจะปรับลดระยะห่างของรถจากเข้าสถานีทุก 10 นาที เป็น 8 นาที ทั้งนี้ ยอมรับว่า social distancing ทำให้รถแต่ละขบวนลดจำนวนผู้โดยสารที่สามารถเดินทางได้จากขบวนละ 745 คน เหลือ 130 คน
นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาความต้องการใช้บริการในช่วงประกาศเคอร์ฟิวนั้น ช่วงเช้าจะมีการปรับให้รถเมล์โดยสาร ซึ่งปกติจะให้บริการคันแรกเวลา 05.00 น. หลังจากนี้จะพยายามให้รถที่มีความพร้อมออกเดินรถก่อนเวลา 05.00 น. และปรับความถี่ของการออกรถเป็นความถี่เดียวกันกับชั่วโมงเร่งด่วน คือ มีรถออกจากอู่ระยะห่างไม่เกิน 5-7 นาที ส่วนช่วงก่อนปิดให้บริการนั้น ในช่วงเคอร์ฟิว ขสมก.จะออกรถคันสุดท้ายเวลา 20.00 น. และมีการขึ้นป้ายประกาศว่ารถคันใดจะเป็นรถก่อนครั้งสุดท้ายและรถคันใดเป็นครั้งสุดท้าย โดย ขสมก.จะเพิ่มความถี่การเดินรถที่ออกจากอู่ปลายทางเป็น 5-10 นาที เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้มีปัญหาการเดินรถใน กทม. เนื่องจากรถร่วมบริการปกติจะมี 70-80 สาย เมื่อประสบปัญหาผู้โดยสารน้อยลงไม่คุ้มต่อต้นทุนการเดินรถก็มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่หยุดให้บริการช่วงนี้ ซึ่งรถร่วมบริการเหล่านี้เปลี่ยนไปสังกัดขึ้นตรงต่อกรมการขนส่งทางบกแล้ว
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า สำหรับปัญหาที่รถเมล์โดยสารในกรุงเทพฯ ปริมณฑลไม่เพียงพอ เนื่องจากเส้นทางเดินรถของรถร่วมบริการในช่วงที่มีการประกาศเคอร์ฟิว และป้องกันการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีผู้โดยสารน้อยลง รวมทั้งมาตรการ social distancing ทำให้รถแต่ละคันรับผู้โดยสารได้น้อยไม่คุ้มต่อต้นทุนการเดินรถนั้น หลังจากนี้กรมการขนส่งทางบกจะประสาน ขสมก. เพื่อหารือกับผู้ประกอบการรถร่วมบริการ เพื่อขอให้อย่างน้อยผู้ประกอบการรถร่วมบริการกลับมาเดินรถในช่วงเย็นก่อนเวลาเคอร์ฟิวและเปิดเดินรถเช้าหลังเคอร์ฟิว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนรถไม่เพียงพอแก่ประชาชนส่วนหนึ่งที่ยังมีความจำเป็นต้องเดินทาง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ และอยู่ในช่วงประกาศเคอร์ฟิวนั้น มีผู้ใช้บริการรถเมล์โดยสารจำนวนมากได้ร้องเรียนมาที่ ขสมก. เนื่องจากการจัด Social Distancing ทำให้รถแต่ละคันรับผู้โดยสารได้น้อย เกิดการกระจุกตัวในการใช้บริการทั้งในช่วงเช้าและช่วงเย็น ส่งผลให้ประชาชนที่ยังจำเป็นต้องเดินทางต้องรอรถเป็นเวลาหลายชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย