กรุงเทพฯ 6 เม.ย. – รมว. เฉลิมชัยสั่งการกยท. ออกหนังสือด่วนที่สุดถึงศบค. และประสานกระทรวงมหาดไทยให้ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดผ่อนปรนให้เกษตรกรชาวสวนยางกรีดยางในช่วงเวลาเคอร์ฟิวได้ ระบุ เป็นกิจกรรมตามลักษณะอาชีพ ลดผลกระทบจากการขาดรายได้
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกณ์กล่าวว่า ได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทำหนังสือถึงศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แจ้งถึงผลกระทบจากประกาศ ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบถึงเกษตรกรชาวสวนยางเพราะห้วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลาออกกรีดยาง ทำให้ขาดรายได้
ทั้งนี้เกษตรกรชาวสวนยางจำเป็นที่จะต้องออกไปกรีดยางพาราในเวลาที่กำหนดห้าม โดยเป็นกิจวัตรที่ทำมาเป็นปกติของการประกอบอาชีพ จึงขอให้ศบค. ผ่อนปรนและแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในพื้นที่ รวมทั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านรับทราบ แต่ขอความร่วมมือเกษตรกรชาวสวนยางให้ปฏิบัติตามมาตรการรักษาสุขอนามัยของรัฐบาลเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเจ็บป่วยและลดการแพร่เชื้อโควิด-19
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้ยอดการสั่งซื้อวัตถุดิบยางพาราจากต่างประเทศลดลง ตลาดรับซื้อยางพาราของเอกชนหลายแห่งปิดจุดรับซื้อจนส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยาง จึงขอให้เกษตรกรนำยางพาราที่กรีดได้มาจำหน่ายแก่กยท. ซึ่งมีจุดบริการตลาด 222 แห่งครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้แก่ ตลาดกลางยางพารา 6 แห่งในจังหวัดบุรีรัมย์ หนองคาย สุราษฎร์ธานี จังนครศรีธรรมราช สงขลา และยะลา เครือข่ายตลาดกลาง 111 แห่ง และตลาด กยท. จังหวัด/สาขา 105 แห่งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการกิจการยางพารา ยืนยันว่า จุดรับซื้อที่มีอยู่สามารถรองรับยางที่เกษตรกรกรีดได้ทั่วประเทศ กยท. ยังมีมาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยางอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ราคายางที่ลดลง อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยติดตามข้อมูลได้ผ่าน www.raot.co.th
สำหรับการส่งออกน้ำยางข้นไปยังมาเลเซียซึ่งเดิมมีกำหนดให้ส่งผ่านด่านปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาได้ในวันนี้ ล่าสุดทางกระทรวงต่างประเทศของมาเลเซียทำหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์เลื่อนการเปิดบริการด่านระหว่าง 2 ประเทศเป็นวันพรุ่งนี้ (7 เมษายน) ซึ่งเป็นการขนส่งสินค้าทางรถไฟ มั่นใจว่า จะทำให้สถานการณ์ในการส่งออกยางพาราดีขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการจะกลับมาซื้อยางจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มมากขึ้นด้วยเพื่อส่งออกไปยังมาเลเซียตามคำสั่งซื้อ . – สำนักข่าวไทย