กรุงเทพฯ 19 มี.ค. – ฟรุตบอร์ดออก 2 มาตรการช่วยชาวสวนผลไม้ ลดผลกระทบโควิด-19 เร่งกระจายผลไม้กว่า 8 หมื่นตัน ช่วยเหลือทางการเงินทั้งสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) กล่าวว่า คณะทำงานจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออกรายงานผลการวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตไม้ผลว่าปี 2563 จะมีปริมาณผลผลิตทุเรียน 584,712 ตัน จะออกสู่ตลาดมากเดือนเมษายน-พฤษภาคม มังคุด 201,741 ตัน จะออกสู่ตลาดมากเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และเงาะ 220,946 ตัน จะออกสู่ตลาดมากเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 คาดการณ์ว่าจะส่งออกทุเรียน มังคุด และเงาะ รวม 545,809 ตัน แต่เมื่อมีการระบาดจึงวิเคราะห์ว่าจะส่งออกทุเรียน มังคุด และเงาะรวม 461,534 ตัน ลดลงจากภาวะปกติ แบ่งเป็นทุเรียน 58,471 ตัน มังคุด 12,105 ตัน และเงาะ 13,699 ตัน รวม 84,275 ตัน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย อุปนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก และนายกสมาคมผู้ส่งออกผักและผลไม้เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 มี 2 มาตรการหลัก คือ การช่วยเหลือกระจายผลไม้ 84,275 ตัน และการช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยจะมีโครงการย่อยและหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบในการร่วมรณรงค์บริโภคผลไม้และกระจายผลผลิตไปยังแหล่งต่าง ๆ
“ปลายเดือนเมษายน หากสถานการณ์ COVID-19 สงบจะเดินทางไปจัด Road Show และส่งมอบผลไม้แก่ชาวจีน ซึ่งอัครราชทูตที่ปรึกษาด้านการเกษตรและทูตพาณิชย์ในกรุงปักกิ่งเตรียมพร้อมไว้แล้ว” นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้านนายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ฝ่ายเลขานุการ Fruit Board กล่าวว่า การช่วยเหลือด้านการกระจายและควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตร มี 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการประสานใจเกษตรกรไทยสู่พี่น้องชาวจีนสู้ วิกฤติ COVID-19 ส่งมอบผลไม้ไทย คือ ทุเรียน 20 ตัน และมังคุด 20 ตัน ให้ชาวจีนประมาณวันที่ 25 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2563 ซึ่ง รมว.เกษตรฯ จะเดินทางไปจัด Road Show และส่งมอบผลไม้ด้วยตนเอง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค โครงการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ภายในประเทศ Eat Thai First ได้แก่ จัดสถานที่จำหน่ายผลไม้ที่จะออกช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมเพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้บริโภคผลไม้ไทยเกรดพรีเมี่ยมราคายุติธรรม ขณะนี้ประสานงานกับตลาดไทและ Home pro เรียบร้อยแล้ว มีเป้าหมายการจำหน่ายสินค้าทั้ง 2 แห่ง รวม 1,200 ตัน โดยตลาดไทยินดีให้ใช้พื้นที่ในช่วงฤดูกาลผลิต นอกจากนี้ กำลังประสานงานกับห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ได้แก่ ซีคอนสแควร์ IT Square Tesco Lotus Big C, Tops iconsaim และสถานีบริการน้ำมัน เป้าหมาย 3,000 ตัน ขอความร่วมมือทุกส่วนราชการและผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่สนับสนุนการบริโภคผลไม้ไทย อาหารไทย และใช้ดอกไม้ไทยประดับสถานที่ในการจัดประชุมสัมมนาและงานต่าง ๆ เป้าหมาย 3,000 ตัน
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้คัดเลือกเกษตรกรและเกษตรกรแปลงใหญ่ โดยให้ลงทะเบียนกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อจำหน่ายสินค้าแบบส่งถึงที่หมาย 2,000 ตัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และกลุ่ม SCG ช่วยซื้อผลไม้ 1,000 ตัน ส่งเสริมการขายผ่านผ่านเว็บไซต์ Alibaba Shopee และ Lazada โดยกรมส่งเสริมการเกษตรอบรมเกษตรกรให้ขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีเข้าร่วมโครงการขายผ่าน Lazada สำหรับองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) จำหน่ายผ่านระบบ อ.ต.ก. Online และ อ.ต.ก. Market ซึ่งเกษตรกรสามารถเข้าไปลงทะเบียนได้เป้าหมาย 2,000 ตัน กรมส่งเสริมสหกรณ์จะบริหารจัดการโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรกร โดยขอใช้งบกลาง 45.0372 ล้านบาท เป้าหมาย 80,000 ตัน
อีกโครงการที่สำคัญ คือ โครงการสินค้าเกษตรไทยปลอดภัยจากโควิด-19 ซึ่งได้ขอความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่เข้มงวดเกี่ยวกับสุขอนามัยของแรงงาน เช่น การแต่งกายที่รัดกุม มีหน้ากากป้องกันขณะปฏิบัติงาน อีกทั้งขอความร่วมมือกรมการค้าภายในและกระทรวงสาธารณสุขในการจัดสรรโควตาหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ สำหรับผู้ประกอบการชาวสวนผลไม้ให้ระมัดระวังการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวในลักษณะบุฟเฟ่ต์ผลไม้ และมอบหมายคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ติดตามผลการปฏิบัติการควบคุมโรคระบาดในพื้นที่อย่างเข้มงวดและรายงานต่อ Fruit Board เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าเกษตรไทย
สำหรับโครงการหาตลาดใหม่สินค้าเกษตรเพิ่มเติม ได้แก่ การจัดแคมเปญ/นิทรรศการ/Road Show/Exhibition นั้นได้เตรียมจัดกิจกรรมระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายนที่ประเทศออสเตรเลีย UAE ตุรกี จีน และญี่ปุ่น และจะเจรจาทางการค้ากับประเทศตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย ตุรกี อินโดนีเซีย รัสเซีย อาร์เจนตินา อินเดีย เกาหลี ซึ่งขณะนี้เร่งศึกษากฎระเบียบการส่งออกผลไม้ไปประเทศต่างๆ ที่มีศักยภาพ การเจรจาข้อจำกัดกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) สุขอนามัยพืช สุขอนามัยสัตว์ มาตรฐานสินค้า รวมทั้งขอให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน GAP โดยมีเป้าหมายการตรวจรับรอง 70,000 แปลง และ GMP โรงคัดบรรจุ 180 โรง
ส่วนมาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ ได้แก่ การช่วยลดภาระทางการเงิน ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ขอความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับเกษตรกร โดยบอร์ด ธ.ก.ส. พิจารณาอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร คือ ให้ปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้โดยปลอดการชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี ระยะเวลาการดำเนินมาตรการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564 และสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกร สถาบันเกษตร และผู้ประกอบการ เพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องดำเนินธุรกิจเพื่อจะบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด.-สำนักข่าวไทย