กรุงเทพฯ 26 ก.พ. – กนอ.เชื่อหากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ถูกยกสู่ระดับ 3 นักลงทุนจะเข้าไทยเพิ่มขึ้น เตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนอุตสาหกรรม New-S-Curve เกือบ 10,000 ไร่ เสนอ รมว.อุตฯ พิจารณาเร็ว ๆ นี้
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ในแง่การเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมนั้น กนอ.มองว่าหากประเทศไทยไม่ถูกยกระดับของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จากระดับ 2 สู่ระดับ 3 หรือระบาดรุนแรงเท่ากับประเทศจีน ประเทศไทยก็จะได้รับผลดีมากกว่า โดยไทยจะเป็นแหล่งลงทุนที่บรรดานักลงทุนจากหลายประเทศอยากที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น
“ตอนนี้ กนอ.อยู่ระหว่างสรุปยอดขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไตรมาสแรกปีงบ 2563 และเร่งประมวลเป้าหมายยอดขายพื้นที่นิคมปีงบ 2563 ซึ่งปกติแต่ละปีจะตั้งไว้ที่ 3,000 ไร่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลต่อเป้าหมายลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้บ้างเล็กน้อย เพราะยังมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้อง เช่น ค่าเงินบาท และอื่น ๆ” นางสาวสมจิณณ์ กล่าว
ส่วนผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ยังเห็นไม่ชัดเจน โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไทยอยู่ระดับ 2 หากทุกคนร่วมมือกันระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดจะไม่ถูกยกขึ้นไปเป็นระดับ 3 ด้านผลกระทบจะไม่มาก แต่หากสถานการณ์ถูกยกขึ้นเป็นระดับ 3 ผลกระทบจะเกิดขึ้นหลายด้าน ทั้งการท่องเที่ยวที่จะลดลง การคมนาคมขนส่ง และอื่น ๆ ตามมา ขณะที่ผลกระทบด้านอุตสาหกรรมจะเป็นลำดับรองลงไป เนื่องจากมีต่างชาติในกลุ่ม 9 ประเทศที่มีการระบาดอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเช่นกัน ซึ่งทุกคนจะต้องร่วมมือป้องกัน เพื่อให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปให้ได้
“ผลกระทบจากการแพร่ระบาดนั้น ขณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลก เพียงแต่ประเทศไทยกระทบน้อยกว่า เนื่องจากมีอากาศร้อน ผลกระทบจะอยู่ในช่วง 2-3 เดือนนี้ พออากาศในไทยร้อนมาก ๆ ในช่วงต่อไป เชื่อว่าสถานการณ์แพร่ระบาดจะหมดไปในที่สุด ขณะนี้ กนอ.อยู่ระหว่างจัดทำประกาศให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่รู้จักดูแลตัวเองและระมัดระวังไม่ให้มีการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น” นางสาวสมจิณณ์ กล่าว
นางสาวสมจิณณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมปิดตัวลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ปิดตัวลงจากสาเหตุของการถูกเทคโนโลยีดิสรัปทีฟ เช่น เชฟโรเลต บริษัท จีเอ็ม เลิกการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย เนื่องจาก GWM จากจีนเข้ามาซื้อศูนย์ผลิตรถยนต์และยกระดับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เบื้องต้นประเมินว่าเร็ว ๆ นี้ จะมีอีกหลายบริษัทผลิตรถยนต์จะปรับสายการผลิตด้วย
ผู้ว่าฯ กนอ. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจัดทำรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นของการเตรียมพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อรองรับการเข้ามาลงทุนของอุตสาหกรรม New S-Curve แล้ว พื้นที่รวมเกือบ 10,000 ไร่ รวม 4 แปลง แบ่งเป็นพื้นที่บนบก 2 แปลง และพื้นที่ที่เกิดจากการถมทะเลอีก 2 แปลง ซึ่งนับเป็นการเตรียมไว้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นสูง รวมถึงอุตสาหกรรมสมัยใหม่อื่น ๆ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น ขณะนี้รายงานผลการศึกษาดังกล่าวอยู่ระหว่างตรวจแก้ไขก่อนเสนอนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาเร็ว ๆ นี้
ส่วนการเตรียมการรับมือกับปัญหาภัยแล้งนั้น ก่อนหน้านี้ประสานความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในกลุ่มมาบตาพุดคอมเพล็กซ์แล้ว ล่าสุดสามารถลดการใช้น้ำภาพรวมได้แล้วกว่าร้อยละ 10 จากที่ใช้อยู่เดิม ซึ่งปกติมีการใช้น้ำอย่างประหยัดอยู่แล้ว เนื่องจากปรับสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ประหยัดทรัพยากรต่าง ๆ ลง เช่น ลดการใช้น้ำ ลดการใช้พลังงาน ส่วนจะลดการใช้มากกว่านี้ทำได้ยาก เพราะก่อนหน้านี้ลดลงมาแล้วร้อยละ 20-30 สำหรับช่วงฤดูแล้งนี้ มั่นใจว่าจะผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้ เพราะการนิคมฯ ร่วมมือกับบริษัท อีสท์วอเตอร์ ซึ่งทำธุรกิจจัดหาน้ำในภาคตะวันออกวางท่อส่งน้ำเพิ่มเติม และมีการผันน้ำจากจันทบุรีเข้ามาเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคตะวันออก ขณะที่บางส่วนมีการนำน้ำทะเลมาผลิตน้ำจืดใช้ แต่สัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 ของปริมาณความต้องการใช้น้ำทั้งหมด.-สำนักข่าวไทย