เซ็นทรัลลาดพร้าว 21 ม.ค. – กฟผ.มั่นใจประมูลโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนอื่นอีกกว่า 2 พันเมกะวัตต์ จะได้ราคาต่ำลงอีก หลังจากประมูลเขื่อนสิรินธรต่ำกว่าราคากลางเกือบ 3 เท่า ราคาเพียง 1.2 บาทต่อหน่วย ด้านบีกริมพร้อมควงคู่เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่าประมูลทุกเขื่อน
วานนี้ (20 ม.ค.) สัญญาประวัติศาสตร์โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร แบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ลงนามแล้วระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับกิจการค้าร่วม บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) – เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่า กำหนดผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือนธันวาคม 2563 กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการกว่า 842 ล้านบาท ซึ่งเป็นการประมูลที่ต่ำ โดยราคากลางตั้งไว้ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า ราคาที่ประมูลได้นับว่าต่ำมากประมาณ 1.20 บาท/หน่วย และจะเป็นราคาเปรียบเทียบ หรือ Benchmark สำหรับการประมูลโซลาร์ลอยน้ำของ กฟผ.ที่ยังเหลืออีก 2,680 เมกะวัตต์ อีก 8 เขื่อน 15 โครงการ ตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว 61-80 (PDP2018) และคาดว่าเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล ดีคือ ราคาประมูลจะต่ำลง นับว่าเป็นผลดีต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน โดยโครงการต่อไปที่จะประมูลปี 2564-2565 คือ โซลาร์ลอยน้ำเขื่อนอุบลรัตน์กำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ กำหนดจะเข้าระบบ ( COD) ปี 2566
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผสมผสานระหว่างโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำที่จะผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวันร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนของ กฟผ.ที่มีอยู่เดิม โดยนำระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System หรือ EMS) มาบริหาร ทำให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตยังสามารถนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ร่วมด้วย โครงการนี้ใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิ้ลกลาสที่เหมาะสมกับการวางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำที่มีความชื้นสูงและมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำอยู่ตลอดเวลา และใช้ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม ติดตั้งอุปกรณ์บนพื้นที่ผิวน้ำกว่า 450 ไร่
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า Energy China เป็น 1 ใน 3 รัฐวิสาหกิจพลังงานของจีน เป็นผู้ลงทุนเขื่อน Three Gorges Dam หรือเขื่อน สามผาของจีน เขื่อนอเนกประสงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และโรงไฟฟ้าอื่น ๆ มีศักยภาพ มีความได้เปรียบสูงในการบริหารจัดการต้นทุน การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ และการพัฒนาเทคนิควิศวกรรมที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการพัฒนาและก่อสร้าง โครงการโรงไฟฟ้าอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งพร้อมจะจับมือกับบีกริมในการร่วมทุนประมูลโซลาร์ลอยน้ำทุกโครงการของ กฟผ. รวมทั้งโครงการโซลาร์ในประเทศอื่น ๆ
นางปรียนาถ เปิดเผยด้วยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจผลิตไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนอย่างน้อย 1 ดีลในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ทำให้รายได้ปีนี้เติบโตมากกว่าปกติที่คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อน
สำหรับดีล M&A ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติไทยและมาเลเซีย โครงการโซลาร์ในฟิลิปปินส์ โครงการในเกาหลี เวียดนาม เป็นต้น ทำให้มั่นใจว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามเป้าหมาย 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิต COD แล้ว 2,896 เมกะวัตต์.-สำนักข่าวไทย