กรุงเทพฯ 13 ม.ค. – อธิบดีกรมชลประทานระบุปฏิบัติการระดมน้ำผลักดันลิ่มความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยาสำเร็จ น้ำทะเลขึ้นสูงสุดคืนที่ผ่านมา แต่ค่าความเค็มของน้ำดิบที่หน้าสถานีสูบน้ำสำแลต่ำกว่าเกณฑ์เฝ้าระวัง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอีกรอบ 24-25 ม.ค.นี้
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ผลการวัดค่าความเค็มของน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าสถานีสูบน้ำสำแล จ. ปทุมธานี เวลา 09.00 น. วันนี้ (13 ม.ค.) อยู่ที่ 0.16 กรัม/ลิตร ต่ำกว่าค่าเฝ้าระวังซึ่งอยู่ที่ 0.25 กรัม/ลิตร เมื่อคืนที่ผ่านมาเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดของระลอกนี้ จึงถือว่าปฏิบัติการผลักดันน้ำเค็มเป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ระบายน้ำจากหลายทางมาสู่ด้านท้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จากเขื่อนเจ้าพระยาอัตรา 100 ลบ.ม./วินาที เขื่อนพระราม 6 อัตรา 11 ลบ.ม./วินาที ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านคลองพระยาบันลือ 24 ลบ.ม./วินาที และนำน้ำแม่น้ำท่าจีนมาเสริมคลองปลายบางอัตรา 6 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งสิ้น 141 ลบ.ม./วินาที ซึ่งทำมาตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม รองรับสถานการณ์น้ำหนุนจนถึงหนุนสูงที่สุดเมื่อคืนนี้
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า ได้ขอความร่วมมือจากการประปานครหลวง (กปน.) ให้หยุดสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำสำแลเข้าสู่ระบบการผลิตประปาในช่วงน้ำทะเลลงเป็นเวลา 2 ชั่วโมงต่อวัน เพราะช่วงน้ำทะเลลงมีลิ่มความเค็มค้างอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา หาก กปน.ยังคงสูบตามปกติ 60 ลบ.ม./วินาที น้ำที่เหลือไม่เพียงพอจะผลักดันลิ่มความเค็มได้ แต่เมื่อหยุดสูบตามเวลาที่กำหนดทำให้ค่าความเค็มเจือจาง โดยเวลา 15.00 น. วานนี้ (12 ม.ค.) ค่าความเค็มสูงสุดหน้าสถานีสูบน้ำสำแลอยู่ที่ 0.55 กรัม/ลิตร สูงกว่าเกณฑ์ควบคุมสำหรับผลิตน้ำประปาที่ 0.50 กรัม/ลิตรไปเล็กน้อย ซึ่งไม่มีการสูบเข้าระบบ จากการตรวจวัดเช้านี้ลิ่มความเค็มถอยห่างจากสถานีสูบน้ำสำแลไปอยู่บริเวณสะพานปทุมธานี 2 ซึ่งอยู่ห่างไป 9 กิโลเมตร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ
จากนี้จนถึงวันที่ 17 มกราคม จะเป็นช่วงที่น้ำทะเลลดลงตามลำดับ ซึ่งกรมชลประทานจะลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ที่ 95 ลบ.ม./วินาที จนถึงวันที่ 15 มกราคมแล้วจะคงการระบายอยู่ที่ 90 ลบ.ม. ต่อไป แต่การบริหารจัดการน้ำจะเป็นไปตามสถานการณ์ โดยพร้อมรับภาวะน้ำทะเลหนุนอีกระลอกวันที่ 24-25 มกราคมนี้ แต่ไม่น่ากังวล เนื่องจากระดับน้ำทะเลไม่ขึ้นสูงเท่ากับครั้งนี้
“กำลังเร่งทำแผนสำรวจภูมิประเทศด้านวิศวกรรมแบบ 3 มิติของคลองพระยาบันลือ เนื่องจากเป็นคลองสำคัญที่รับน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมลุ่มเจ้าพระยา เพื่อผลักดันค่าความเค็ม ทำให้ทราบลักษณะท้องน้ำและคำนวณความจุของคลองได้อย่างแม่นยำ โดยเป็นนวัตกรรมที่นำมาใช้บริหารจัดการน้ำเค็มลุ่มเจ้าพระยาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” นายทองเปลว กล่าว.-สำนักข่าวไทย