กรุงเทพฯ 6 ม.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุประชาชนบริโภคเนื้อหมูเนื้อไก่ได้อย่างปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษตามข่าวลือ ชี้มีการควบคุมกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ตั้งแต่ฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์ ตลอดจนถึงสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ย้ำกระบวนการเลี้ยงสัตว์ในไทยไม่มีการใช้ฮอร์โมนไทรอยด์ รวมถึงฮอร์โมนอื่น ๆ
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวพบผู้เสียชีวิตจากโรคไทรอยด์เป็นพิษคาดว่าเกิดจากการบริโภคต่อมไทรอยด์ในเนื้อหมูเนื้อไก่ ว่า ในสัตว์มีต่อมไทรอยด์อยู่แล้วและในเนื้อสัตว์ก็มีฮอร์โมนไทรอยด์ตกค้างตามธรรมชาติ แต่ภายในต่อมไทรอยด์มีปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์สูง ผู้เสียชีวิตอาจบริโภคต่อมไทรอยด์ของสัตว์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้เกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษ โดยปกติต่อมไทรอยด์เป็นส่วนที่จะถูกตัดออกในกระบวนการชำแหละและแต่งตัด ไม่ได้นำมาบริโภคเป็นอาหารของมนุษย์ ซึ่งผู้บริโภคสามารถสังเกตลักษณะของต่อมไทรอยด์ที่อาจปนมากับเนื้อสัตว์ โดยมีลักษณะเป็นก้อนขนาดเล็ก ยืดหยุ่น ไม่แข็งอยู่บริเวณคอ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวต่อว่า วิธีเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ดี เช่น เนื้อหมูต้องมีสีชมพูสดถึงแดง แต่ต้องไม่แดงมาก เมื่อใช้นิ้วกดเนื้อต้องคืนตัว ไม่ยุบตามแรงกด ไม่ควรซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว กลิ่นเหม็นรุนแรง มีเมือกลื่น สีคล้ำ หรือเนื้อหมูที่สีซีดเกินไปและมีน้ำซึมไหลออกมา ส่วนเนื้อไก่ที่สดต้องมีเนื้อสีชมพูเรื่อ ๆ ไม่มีสีแดงมากหรือไม่ซีดเกินไป เนื้อต้องไม่แฟบแบน หนังมีสีขาวอมเหลือง ไม่มีน้ำนองออกมา และแนะนำให้เลือกซื้อเนื้อสัตว์จากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ ส่วนสถานที่จำหน่ายต้องสะอาดถูกสุขลักษณะ ได้แก่ ตลาดสด ร้านค้าโมเดิร์นเทรดที่มีป้ายตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK หรือสินค้าที่ติดตราสัญลักษณ์ Q mark ซึ่งได้รับการรับรองโดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค.-สำนักข่าวไทย