ทำเนียบฯ 6 ธ.ค.-“พล.อ.ประวิตร”ประชุมขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ วางแผนใช้น้ำ 20 ปี หนุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ รองรับ ECC
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 3/2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาถึงความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี และการพิจารณาโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่มีความพร้อม จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563-2580) และโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จ.สกลนคร
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่าที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่มีความพร้อม จำนวน 2 โครงการ เพื่อเสนอต่อ กนช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2562 ในวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563-2580) และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ซึ่งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ดังนั้นแผนหลักเพื่อรองรับการพัฒนาในระยะ 20 ปี ที่ สทนช.ได้ทำการศึกษา ซึ่งจะใช้งบประมาณในการลงทุนมากกว่า 88,000 ล้านบาทนั้น มีความสำคัญที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเร่งจัดเตรียมการดำเนินการแผนงานทางเลือกให้มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในปีที่มีน้ำน้อย เช่น การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล หรือ การให้สัมปทานเอกชนพัฒนาระบบน้ำสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงดังกล่าว เป็นต้น โดยเฉพาะโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจะต้องดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อการพัฒนาแบบร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และให้ สทนช.ติดตามความก้าวหน้าต่อไป
นอกจากนี้ จากการศึกษาวิเคราะห์และประเมินความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ของ สทนช. พบว่า ในอนาคตปี 2580 EEC จะมีความต้องการใช้น้ำ 3,089 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2560 ประมาณ 670 ล้าน ลบ.ม.ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติม และมีการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ โดยแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน แบ่ง 2 ช่วง คือ ปี 2563-2570 ประกอบด้วย การปรับปรุงเพิ่มความจุอ่างฯ เดิม 6 แห่ง ก่อสร้างอ่างฯใหม่ 10 แห่ง ปรับปรุงระบบผันน้ำเดิม 2 ระบบ ก่อสร้างระบบผันน้ำใหม่ 2 ระบบ
พัฒนาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากให้เป็นแก้มลิง ก่อสร้างระบบผลิตน้ำจืดจากทะเล เป็นต้น สามารถมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 706.19 ล้าน ลบ.ม. และในช่วงปี 71-80 ประกอบด้วย ก่อสร้างระบบสูบกลับ 2 ระบบ อุโมงค์ส่งน้ำอ่างฯ คลองพระสะทึง-คลองสียัด และระบบผันน้ำใหม่ 2 ระบบ จะมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น ประมาณ 166 ล้าน ลบ.ม. ส่วนแผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มเติม เช่น การรณรงค์ส่งเสริมมาตรการ 3R การปรับปรุงท่อส่ง-จ่ายระบบประปา การปลูกพืชที่ได้ผลตอบแทนสูง ส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย