กรุงเทพฯ 29 พ.ย.- สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้มีหลายปัจจัยที่ทำให้เห็นว่าเสถียรภาพของรัฐบาลเริ่มสั่นคลอน โดยเฉพาะปัญหาขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แม้จะมีเสียงยืนยันว่ายังเหนียวแน่นไร้ปัญหา แต่นักวิชาการมองว่า หากคุมเสียงในสภาฯ ไม่ได้ อาจต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภาฯ หรือลาออก
แม้คนในพรรคร่วมรัฐบาลจะออกมายืนยันว่า สถานะพรรคร่วมรัฐบาลยังเหนียวแน่น ไม่ได้มีปัญหาตามข่าวลือที่เกิดขึ้น ไม่ต้องเคลียร์ใจ พร้อมจะเดินหน้าทำงานต่อไป
แต่หลายสถานการณ์ หลายปัจจัย เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เสถียรภาพของรัฐบาลขณะนี้มีแนวโน้มสั่นคลอน โดยเฉพาะในสภาฯ ที่พรรคร่วมรัฐบาล ไม่สามารถคุมเสียงให้ไปในทิศทางเดียวกันได้ เกิดอาการปีนเกลียว เห็นได้จากเสียงในสภาฯ ไม่เพียงพอเป็นเหตุให้สภาฯ ล่ม 2 ครั้งซ้อน ในการขอลงคะแนนใหม่ในญัตติตั้งกรรมาธิการศึกษาการใช้คำสั่ง คสช. มาตรา 44 แม้สถานการณ์นี้มีโอกาสเกิดได้ในภาวะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แต่ส่งผลต่อภาพลักษณ์การทำงานของรัฐสภา นักวิชาการชี้หากเกิดเหตุลักษณะนี้อีก อาจต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภาฯ หรือลาออก
อีกหนึ่งปัญหา พลิกมติแบน 3 สารพิษ อาจเป็นอีกปมที่ทำให้สัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลระหว่างพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ส่อเค้าเกิดความไม่ลงรอย แม้อีกนัยหนึ่งจะอ้างว่าเกิดจากสหรัฐกดดัน หรืออ้างเป็นเรื่องภายในกระทรวงเกษตรฯ แต่ก็ตอกย้ำรอยร้าวชัดขึ้น การกลับมติไปมายังสร้างความสับสนให้ทั้งคนเชียร์ คนเห็นต่าง
ขณะเดียวกัน ปัญหารุกพื้นที่ป่า ส.ป.ก.ของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เป็นอีก 1 ประเด็น ที่จะถูกเล่นไม่เลิก และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล หากไม่มีการลงดาบ ถ้าพบว่าผิดจริง
ต้องจับตาสถานการณ์ทางการเมือง 2-3 เดือนต่อจากนี้ ว่ารัฐบาลจะสามารถประสานรอยร้าวได้หรือไม่ เพราะถ้าปล่อยให้ร้าวลึก เกินเยียวยา อาจทำให้ถึงจุดจบของรัฐบาล แต่หากแก้ปัญหาได้ถูกจุดจะประคองสถานการณ์ต่อได้.-สำนักข่าวไทย