กรุงเทพฯ 27 พ.ย. – ปลัดเกษตรฯ พร้อมอธิบดี 3 กรม เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันนี้ ระบุ รมว.เกษตรฯ ให้ลงความเห็นตามดุลพินิจ ด้านอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเตรียมเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกสารเคมี 3 ชนิด
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จะเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ โดยกระทรวงเกษตรฯ มีผู้แทน 4 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมประมง และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งปรับเปลี่ยนจากโครงสร้างเดิมที่มีผู้แทนของกระทรวงเกษตรฯ 5 คน ได้แก่ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำหรับการลงความเห็น ยืนยันว่านายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้สั่งการให้เป็นไปในทางใดทางหนึ่ง กรรมการแต่ละคนจะพิจารณาจากข้อมูลที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายประมวลมาจากทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ มีรายงานว่าอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเตรียมข้อมูลผลการรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. … เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายเกี่ยวกับการปรับสถานะสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทำให้ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน ผลิต และครอบครอง ซึ่งมีผู้แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์และแบบแสดงความคิดเห็น 48,789 ราย โดยมีผู้เห็นด้วย 12,143 ราย และไม่เห็นด้วย 36,646 ราย
ส่วนประเด็นผลการพิจารณาระยะเวลาและความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังเหลือ หลังจากประกาศมีการบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องนั้น คาดว่าอธิบดีกรมวิชาการเกษตรจะนำเสนอตามที่นำเสนอต่อคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดที่ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานก่อนหน้านี้ โดยกรมวิชาการเกษตรเห็นว่า ขั้นตอนที่ต้องเปิดรับแจ้งการครอบครองภายใน 15 วัน และต้องให้ผู้ครอบครองนำมาส่งมอบภายใน 15 วันหลังการแจ้ง หากออกประกาศวันที่ 1 ธันวาคมจะเหลือเวลาเพียง 5 วัน ซึ่งกระชั้นชิดมาก ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการนำเข้าและผลิต และร้านจำหน่ายตั้งตัวไม่ทัน อีกทั้งกระบวนการจัดการกับสารเคมี 3 ชนิด ซึ่งมีอยู่ประมาณ 28,000 ตัน ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน จึงอาจเสนอที่ประชุมพิจารณาชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไปก่อน
ทั้งนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่า กรรมการที่เป็นผู้แทนจากกระทรวงเกษตรฯ จะนำเสนอผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หากยกเลิก 3 สารทันที โดยจากการศึกษาข้อมูลของคณะทำงานฯ จากหลายหน่วยงานประเมินว่า เกษตรกร 600,000 รายจะมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นคิดเป็นมูลค่า 33,417 ล้านบาท โดยผลกระทบจากการยกเลิกใช้พาราควอตและไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืชจำแนกเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด พื้นที่ 5.52 ล้านไร่ ไร่ละ 1,114 บาท รวม 7,807 ล้านบาท อ้อย พื้นที่ 2.33 ล้านไร่ ไร่ละ 4,136 บาท รวม 9,650 ล้านบาท มันสำปะหลัง พื้นที่ 3.04 ล้านไร่ ไร่ละ 1,167 บาท รวม 3,550 ล้านบาท ยางพารา พื้นที่ 2.85 ล้านไร่ ไร่ละ 1,725 บาท รวม 4,922 ล้านบาท ปาล์มน้ำมัน พื้นที่ 1.92 ล้านไร่ ไร่ละ 1,766 บาท รวม 3,396 ล้านบาท และไม้ผลและอื่น ๆ พื้นที่ 1.81 ล้านไร่ ไร่ละ 1,950 บาท รวม 3,545 ล้านบาท เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 32,867 ล้านบาท
ส่วนการยกเลิกคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช แบ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด พื้นที่ 5.52 ล้านไร่ ไร่ละ 79 บาท รวม 434 ล้านบาท อ้อย พื้นที่ 2.33 ล้านไร่ ไร่ละ 22 บาท รวม 51 ล้านบาท มันสำปะหลัง พื้นที่ 3.04 ล้านไร่ ไร่ละ 21 บาท รวม 65 ล้านบาท ไม้ผลพื้นที่ 1.81 ล้านไร่นั้นไม่มีต้นทุนสูงขึ้นเนื่องจากสารทางเลือกใกล้เคียงกัน ไม้ดอก พื้นที่ 15,000 ไร่นั้นไม่มีต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากสารทางเลือกใกล้เคียงกัน กลุ่มผู้ปลูกพืชไร่ (ไม่รวมข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง) พื้นที่ 205,000 ไร่ ไร่ละ 28 บาท รวม 6 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 550 ล้านบาท
นอกจากนี้ คาดว่าที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะพิจารณาถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ โดยไทยจะถูกกล่าวหาว่า ทำให้เกิดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Barriers : NTB) โดยตามกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) หากจะมีการยกลิกการใช้สารเคมีการเกษตรชนิดใด จะส่งผลให้ประเทศคู่ค้าไม่สามารถส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายได้นั้น จะต้องส่งหนังสือแจ้งไปยัง WTO ให้ประเทศสมาชิกทราบล่วงหน้าก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ 60 วัน ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ส่งหนังสือแจ้ง WTO เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน อีกทั้งเมื่อแจ้ง WTO ต้องมีระยะเวลาให้ประเทศสมาชิกพิจารณา ปัญหาอีกประการ คือ ไทยไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องภาคการเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี เป็นต้น เนื่องจากเมื่อประกาศยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดแล้ว สินค้าเกษตรที่นำเข้าจะต้องมีค่าตกค้างของสารที่ยกเลิกใช้เท่ากับ 0 (zero tolerance) ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่ 387 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง พ.ศ. 2560 แต่เนื่องจากประเทศไทยยังจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด การจะนำเข้าได้จึงต้องแก้ไข “ระดับปริมาณสารพิษที่เป็นอันตรายทางเคมี” (Maximum Residue Limits : MRLs) จากที่คณะกรรมาธิการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศในโครงการมาตรฐานอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ โดยไทยจะต้องแสดงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาตรฐานสากลสำหรับรองรับการยกเลิกใช้สารเคมีชนิดนั้น ๆ และการแก้ไขค่า MRLs ของสินค้านำเข้าว่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้เห็นชัดเจนจนประเทศสมาชิกยอมรับจึงจะมีผลในทางปฏิบัติในการค้าระหว่างประเทศได้.-สำนักข่าวไทย