กรุงเทพฯ 23 พ.ย.-แกนนำเกษตรกรยัน ไม่ส่งมอบสารเคมี 3 ชนิด แม้ประกาศยกเลิกจะมีผลบังคับใช้ 1 ธ.ค. สวน “มนัญญา” ที่ระบุจะนำม็อบเสื้อขาวมาสยบ ด้านภาคเอกชนย้ำเสนอเลื่อนยกเลิก 2 ปี ในขณะที่แผนเยียวยาของก.เกษตรยังไร้ข้อยุติ
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยกล่าวว่า แม้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิก 3 สารมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม เกษตรกรจะไม่ส่งมอบสารให้กรมวิชาการเกษตรเนื่องจากใช้เงินตัวเองซื้อมาในขณะที่เป็นของถูกกฎหมาย และในวันที่ 26 พ.ย. นี้จะแต่งชุดดำแล้วไปรวมตัวกันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่เช้า โดยหวังว่า จะได้หารือกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายเฉลิมชัยรับฟังความเดือดร้อนของเกษตรกร จากนั้นจะเคลื่อนขบวนไปพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล
“เกษตรกรแต่งชุดดำนั้นเพื่อไว้อาลัยต่อกฎหมายอยุติธรรม เป็นการรวมตัวกันโดยสงบและใช้หลักอหิงสา ไม่ใช่การก่อม็อบ ส่วนการที่ น.ส. มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า หากมากดดัน ม็อบเสื้อขาวพร้อมสยบม็อบเสื้อดำ นั้นเห็นว่า ไม่สมกับเป็นคำพูดของรัฐมนตรีเกษตรฯ นอกจากไม่ช่วยเกษตรกรแล้ว ยังข่มขู่อีกด้วย พร้อมถามกลับว่า ม็อบเสื้อขาวเป็นคนกลุ่มใด ใช่ม็อบเสื้อกาวน์หรือไม่ หากใช่ถือว่า เป็นกระบวนการจัดตั้งม็อบมาทำร้ายเกษตรกร” นายสุกรรณ์ กล่าว
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ผู้แทนภาคอุตสาหกรรมกล่าวถึง ผลกระทบจากการยกเลิกการใช้สาร 3 ชนิดว่า ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมมี 2 ด้านคือ ผลกระทบต่อการเกษตรกรและอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร การลงมติให้ยกเลิกอย่างกระทันหันจึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุปทาน (supply) ของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และตลอดจนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง สมาคมอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ขอเสนอให้ชะลอการบังคับใช้การยกเลิกสารทั้ง 3 ชนิดออกไปอีกอย่างน้อย 2 ปี โดยระหว่างนั้นให้ดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ศึกษาทบทวนหลักฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยกเลิกการใช้อย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมทั้งศึกษาและพิสูจน์ประสิทธิภาพและต้นทุนของสารหรือวิธีการทดแทน และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ชัดเจน หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนให้ครบถ้วนและทั่วถึงในวงกว้าง ที่สำคัญคือ อบรมเกษตรกรอย่างทั่วถึงในการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย (GAP) เพื่อป้องกันดูแลสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภคทั้งประเทศ
“แนวทางดังกล่าวจะลดผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรกว่า 2 ล้านครัวเรือนและแรงงานภาคเกษตร 12 ล้านคน ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า 1.715 ล้านล้านบาทซึ่งเป็นผลจากผลผลิตในประเทศลดลง ประกอบกับการที่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ อุตสาหกรรมหลายประเภทหยุดชะงัก กระทบต่อ GDP และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ” นายพรศิลป์กล่าว
ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด วานนี้ (22พ.ย.) ว่า ที่ประชุมได้นำเสนอข้อมูลประกอบการพิจารณาและได้ข้อสรุปว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปคิดโครงการในการช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ มาตรการในการเยียวยา โดยให้จัดทำหลักเกณฑ์ การกำหนด กลุ่มเป้าหมาย จำนวนพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบ อัตราที่จะใช้การเยียวยา , มาตรการจัดการเชิงปฏิวัติในการกำจัดวัชพืชเมื่อมีการยกเลิกการใช้สารเคมี เช่น การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร หรือการทำเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้จัดตั้งทีม Task Force เพื่อศึกษาวิจัย หาสารชีวภัณฑ์ หรือ จุลินทรีย์ มาทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งในประเด็นดังกล่าวจะมีการนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาต่อไป
-สำนักข่าวไทย