กทม. 20 พ.ย.-เปิดข้อมูล “อาม่าฮวย” ยื่นฟ้องศาลถูกลูกสาวและพนักงานธนาคารปลอมแปลงเอกสารถอนเงินกว่า 25 ล้านบาท วันนี้ทนายความของลูกสาวอาม่าเผยถูกใส่ร้าย มีคนทำให้แม่กับลูกเข้าใจผิดต่อกัน ยืนยันเอกสารเบิกเงินทำตามขั้นตอน
นายอนันตชัย ไชยเดช ทนายความ กล่าวถึงกรณีนางฮวย ศรีวิรัตน์ หรืออาม่าฮวย ถูกลูกสาวร่วมมือกับพนักงานธนาคารปลอมแปลงเอกสารไปถอนเงินออกจากบัญชีธนาคาร 3 บัญชี มูลค่ากว่า 250 ล้านบาทว่า คดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นช่วงที่อาม่าฮวยป่วยติดเตียง แขนขาอ่อนแรง ลูกสาวได้ร่วมกับพนักงานธนาคารอีก 4 คน เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนเงินของอาม่าฮวย จากลายมือชื่อเป็นพิมพ์ลายนิ้วมือแทน หลังจากนั้นมีการเบิกถอนเงินจาก 3 บัญชี กว่า 360 ครั้ง และอาม่าฮวยได้แจ้งความที่ สน.อุดมสุข ตั้งแต่ปี 2560 แต่คดีไม่คืบหน้า กระทั่งตนมาเป็นทนายความให้เมื่อปีที่ผ่านมา จนนำไปสู่การยื่นฟ้องคดีอาญาและแพ่ง โดยคดีอาญาพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องลูกสาวและพนักงานของธนาคารอีก 4 คน ฐานลักทรัพย์และปลอมและใช้เอกสารปลอม ส่วนคดีแพ่งศาลประทับรับฟ้องไปแล้ว ส่วนธนาคารพยายามติดต่อมาเพื่อขอเคลียร์เรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้พูดคุยกัน
ที่ผ่านมาธนาคารชี้แจงว่าการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีอาม่าฮวย ทางธนาคารไม่ได้ทุจริต เป็นการทำตามความต้องการของลูกค้าผ่านคนสนิท ตนยอมรับว่าทางธนาคารพูดถูก แต่พนักงานของธนาคารไม่สุจริต ทำไมการเบิกถอนเงินไม่คุยกับเจ้าของบัญชี อีกทั้งการเปลี่ยนเงื่อนไขการเบิกถอนเงินยังกระทำนอกสถานที่ซึ่งเป็นโรงพยาบาล ดังนั้น ในคดีอาญามั่นใจว่ามีคนติดคุกแน่ แต่ไม่รู้จะกี่คน ส่วนคดีแพ่ง ทางธนาคารชี้แจงและตอบข้อสงสัยให้ได้ก็แล้วกัน พร้อมขอให้คดีนี้เป็นอุทาหรณ์แก่ลูกค้าธนาคารว่าไม่ควรฝากเงินโดยไม่มีการตรวจสอบยอดเงินเป็นเวลานาน พร้อมฝากถึงสถาบันการเงินว่าควรเป็นผู้เฝ้าระวังให้กับลูกค้าใช่หรือไม่ หากเกิดเหตุลักษณะนี้บ่อยครั้งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือ ซึ่งจนถึงขณะนี้อาม่าฮวยยังไม่รู้ว่าเงินในบัญชี 3 บัญชีเหลืออยู่เท่าไร ทั้งที่ขอตรวจสอบหลายครั้ง แต่ทางธนาคารไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล
“ทนายกฤษฎา” ชี้ลูกสาวอาม่าถูกใส่ร้าย
ด้านนายกฤษฎา อินทามระ ทนายความของนางมาวดี ศรีวิรัตน์ บุตรสาวของอาม่าฮวย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยว่า ธุรกิจครอบครัวกงสี มีอาม่าฮวยเป็นผู้มีสิทธิเบิกเงินแต่เพียงผู้เดียว เมื่ออาม่าฮวยล้มป่วยในปี 2557 กล้ามเนื้ออ่อนแรง เซ็นเอกสารไม่ได้ นางมาวดีจึงนำใบรับรองแพทย์ไปปรึกษาธนาคารได้รับคำแนะนำว่าให้เปลี่ยนเงื่อนไขการสั่งจ่าย ซึ่งธนาคารได้มาสอบถามอาม่าถึงโรงพยาบาล ยืนยันว่าขณะนั้นอาม่ายังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ยอมรับว่าเซ็นเอกสารไม่ได้ และยอมเปลี่ยนจากลายเซ็นเป็นพิมพ์ลายนิ้วมือ จากนั้นมีการถอนเงินไปเปิดบัญชีธนาคารออมทรัพย์ที่มีชื่อร่วมกันระหว่างอาม่าฮวย และนางมาวดี และซื้อกองทุนที่มีชื่อร่วมเช่นกัน รวมเงินที่ถอนออกมาประมาณ 100 ล้านบาท เอกสารการเปลี่ยนแปลงจากลายมือชื่อเป็นลายพิมพ์นิ้วมือทำตามขั้นตอน รวมทั้งมีใบรับรองแพทย์ถูกต้อง ซึ่งได้ยื่นประกอบสำนวนคดีไปแล้วทั้งหมด
กระทั่งปี 2559 อากงเสียชีวิต อาม่าฮวยไปอยู่กับนายมานพ ศรีวิรัตน์ บุตรชายคนโต นางมาวดีจึงแยกตัวออกมาทำธุรกิจของตัวเอง ทางครอบครัวจึงตกลงขายกองทุน โดยนายมานพ และนางมาวดี แบ่งเงินไปคนละ 30 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนำไปเป็นค่าเลี้ยงดูอาม่า
นายกฤษฎามั่นใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีคนกลางเข้ามาแทรกแซง เป็นการกล่าวหาใส่ร้ายนางมาวดี ทำให้อาม่าเข้าใว่านางมาวดีไม่เลี้ยงดู ทั้งที่ผ่านมานางมาวดีพยายามขอเข้าพบอาม่าที่เป็นแม่ตลอด แต่กลับถูกกีดกันไม่ให้เข้าพบ จนถึงขั้นอาม่าฟ้องลูกสาวในคดีประพฤติเนรคุณในปี 2560 และแจ้งความลักทรัพย์ 250 ล้านบาท ซึ่งทางลูกสาวก็พยายามจะนำหลักฐานต่างๆ มายื่นต่อศาลว่าเธอดูแลแม่มาโดยตลอด
ต่อมานางมาวดียื่นฟ้องนายมานพ ขอเรียกคืนเงิน 5 ล้านบาท ที่ให้ไว้เลี้ยงดูอาม่า หลังทราบว่าอาม่าไม่ได้รับเงินดังกล่าว ศาลพระโขนงตัดสินให้นางมาวดีชนะคดี ให้นายมานพจ่ายคืนเงิน 5 ล้านบาท หลังจากนั้น 1 เดือน ผู้รับมอบอำนาจจากอาม่ายื่นถอนฟ้องในคดีประพฤติเนรคุณ
หลังจากนี้ต้องให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ขณะนี้ยังไม่มีการเตรียมฟ้องกลับ ส่วนผู้ที่มีการเผยแพร่เรื่องราวที่ทำให้สังคมเข้าใจผิดจนเสียชื่อเสียง ได้รับความเสียหาย จะมีการพิจารณาว่าจะมีการดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ต่อไป.-สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• อาม่าฟ้องลูกสาว-พนง.แบงก์ ปลอมเอกสารถอนเงินกว่า 250 ล้าน