กรุงเทพฯ 13 พ.ย. – อธิบดีกรมป่าไม้ยืนยัน “ไร่ชัยราชพฤกษ์” อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้สิทธิ์ทำกินครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ มอบดีเอสไอ- ป.ป.ท.สอบสวน “ชัยวัฒน์” หากครอบครองโดยใช้ชื่อญาติผิด พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มอีก
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ไร่ชัยราชพฤกษ์ ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรีนั้น ได้สำรวจรังวัดเบื้องต้นมีเนื้อที่ 73 ไร่ โดยนายไพโรจน์ ลิ้มลิขิตอักษร พี่ชายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นผู้ถือหนังสือรับรองสิทธิทำกิน (สทก.1ก.) ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติกำหนดให้กรมป่าไม้ดำเนินการให้สิทธิ์ทำกิน (สทก.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมแล้วแก่ราษฎรเข้าทำกินและอยู่อาศัยได้ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมป่าไม้ตรวจสอบว่าไร่ชัยราชพฤกษ์มีผู้ถือหนังสือ สทก. 1 ก โดยบุคคลเดียวหรือหลายคนเนื่องจากเนื้อที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์เป็นบุคคลเดียวกับผู้ถือหนังสือ สทก. 1 ก หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายให้ทำกินและอยู่อาศัยโดยผู้ถือหนังสือรับรองสิทธิ์เท่านั้น ตกทอดให้ทายาทได้ แต่ห้ามซื้อขาย ผลการตรวจสอบเบื้องต้นส่งมอบให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนเพิ่มเติม เพื่อสรุปผลต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อปี 2559 นายชัยวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ว่าที่ดินซึ่งใช้ชื่อไร่ชัยราชพฤกษ์นั้น เป็นของพี่ชายและภรรยาที่ตกทอดมาจากพ่อตาทำกินตั้งแต่ปี 2527-2528 มีหนังสือ สทก.1 ก และปี 2545 จะเปลี่ยนเป็น สทก. 2 ก เนื่องจากถือสิทธิ์เกิน 5 ปีแล้ว แต่ขณะนั้นเป็นช่วงที่จัดตั้งกรมอุทยานฯ แยกจากกรมป่าไม้ กระบวนการจึงยังไม่เสร็จ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบว่าบุกรุกป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้ เรื่องยุติไปแล้วเมื่อปี 2551
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2522 มีมติ ครม.ช่วยเหลือราษฎรที่บุกรุกอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ให้ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายให้มีที่ทำกินเป็นหลักแหล่งและไม่ไปแผ้วถางอีกต่อไป ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรียกว่า สทก. แต่ยังเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยกรมป่าไม้เป็นผู้อนุญาตและรังวัด หนังสือ สทก.ที่มอบให้ราษฎรจะลงนามอนุญาตโดยผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถซื้อขายได้ แต่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทได้
ตามกฎหมายนั้น การทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับจาก สทก.ต้องเป็นไปตามโครงการหรือกิจการที่ขอไว้และจะให้บุคคลอื่นนอกจากบุคคลในครอบครัวเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมิได้ อีกทั้งห้ามบุกรุกแผ้วถางป่าในบริเวณติดต่อใกล้เคียง หากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือทำผิดเงื่อนไขจะถูกเพิกถอนสิทธิ์ทำกินโดยจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกรณีใด ๆ มิได้ ซึ่งกรณีไร่ชัยราชพฤกษ์นั้น มีประเด็นที่กรมป่าไม้ตรวจสอบหลายประเด็น โดยดีเอสไอรับไปสอบสวนเพิ่มเติม หากพบว่าการครอบครองไม่เป็นไปตามข้อกำหนดจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติด้วย.-สำนักข่าวไทย