31 ต.ค. – หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แนะข้อพึงปฏิบัติหากพบช้างป่าเขาใหญ่ รวมถึงวิธีสังเกตอาการช้างอารมณ์ดีหรือไม่ดี และไปรู้จัก “พี่ดื้อ” ช้างพลายแสนซน ชอบเล่นกับรถ เห็นเป็นไม่ได้
จากกรณีคลิปช้างขาใหญ่ “พี่ดื้อ” ช้างป่าเขาใหญ่ เดินเข้าไปขย่มคร่อมรถเก๋งนักท่องเที่ยวจนกระจกด้านหลังแตก-หลังคายุบ นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า ช้างป่าในเขาใหญ่มีกว่า 300 ตัว ช่วงหน้าฝนแหล่งอาหาร แหล่งน้ำด้านในป่าลึกอุดมสมบูรณ์ ช้างจะไม่ค่อยออกมาหากินด้านนอก แต่พอช่วงปลายฝนต้นหนาว เริ่มเข้าสู่หน้าแล้ง แหล่งน้ำเริ่มแห้ง ช้างป่ามักจะออกมาหาแหล่งน้ำ มาหากินในจุดบริการนักท่องเที่ยว ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่จะเจอช้างป่าออกมาข้างนอกบ่อย
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการ “เช้าชวนคุย”ว่า “พี่ดื้อ” มีพฤติกรรมตามสมญานามที่ได้ อายุประมาณ 35 ปี เจ้าหน้าที่เจอเมื่อหลายปีก่อน มักพบเห็นอยู่ตลอด และได้ผลักดันกลับเข้าป่า แต่ไม่ค่อยเชื่อฟัง จึงเรียกว่า “พี่ดื้อ”
“พี่ดื้อ” เป็นช้างพลาย มีนิสัยชอบเล่นกับรถ ถ้าเห็นจะเดินปรี่เข้าหา เจ้าหน้าที่ห้ามก็ไม่ค่อยฟัง ส่วนคลิปที่เห็นไปคร่อมรถ คืออาการเล่น เพราะหากช้างไม่พอใจ จะมีอาการหางชี้ หูกาง วิ่งหัวต่ำ แนะให้สังเกตที่หู ถ้ากระดิกไปมา หางยังกวัดแกว่ง แสดงว่าอารมณ์ดี
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ฝากถึงนักท่องเที่ยวว่า บนเขาใหญ่เป็นมรดกโลก มรดกอาเซียน เพราะมีพรรณพืช พรรณสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ มีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อขึ้นมาเขาใหญ่มีโอกาสเจอสัตว์ป่ามากมาย ซึ่งเป็นเสน่ห์ของเขาใหญ่ที่ใครๆ ก็อยากมา เพราะสัตว์ป่าอยู่อย่างอิสระ ไม่ได้ถูกกักขัง ความน่ารักของสัตว์ป่าที่นี่ไม่ได้ทำร้ายใคร มาอวดโฉมให้นักท่องเที่ยวได้ชม ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา
แนะข้อพึงปฏิบัติหากพบสัตว์ป่าบนเขาใหญ่ ซึ่งโดยปกติจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจตราอยู่ตลอด อยากให้นักท่องเที่ยวที่วางแผนจะมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้ศึกษารายละเอียด หากพบเห็นสัตว์ใหญ่จะทำอย่างไรในระยะกระชั้นชิด เช่น กรณีเจอช้างพี่ดื้อ เบื้องต้น หากขับรถมาเจอช้าง ให้ตั้งสติก่อน ดูอาการของช้างเป็นอย่างไร ถ้ายังหูกระดิก งวง-หางกวัดแกว่งไปมา แสดงว่าอารมณ์ดี ถ้าเห็นช้างอยู่ข้างถนนให้ขับรถผ่านไปเลย แต่ถ้าเดินอยู่กลางถนน ไม่ยอมให้รถผ่าน ให้หยุดอยู่ห่างอย่างน้อย 30 เมตร เมื่อรถคันต่อไปเห็นรถคันหน้าหยุด ให้ทิ้งระยะเพื่อกลับรถ หรือเดินหน้า-ถอยหลัง ที่สำคัญต้องติดเครื่องยนต์ไว้เสมอ และไม่สร้างสิ่งสนใจด้วยการบีบแตร กะพริบไฟ หรือเบิ้ลเครื่องรถ ไม่ถ่ายรูปที่มีแสงแฟลช อย่าจอดรถใกล้ช้าง หรือหากสุดวิสัยช้างเข้าประชิดรถ ถ้ามีโอกาสขับออกมา ให้รีบขับออกมา อย่าจอดอยู่ให้เป็นเป้านิ่งของช้าง. – สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
►ลอดท้องช้างทั้งคัน! “พี่ดื้อ” ช้างป่าเขาใหญ่คร่อมรถเก๋งนักท่องเที่ยว
► เปิดวีรกรรม “5 ช้างป่า” คุมเขาใหญ่
ข้อควรปฏิบัติเมื่อพบช้างป่าบนถนนในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ►