กรุงเทพฯ 2 ต.ค. – กลุ่ม ปตท.คุยร่วมลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ธุรกิจก๊าซคุยลดได้ 150 ตัน/ปี ส่วนธุรกิจน้ำมันเร่งขยายบี 10
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ใน 20 ปีนี้ ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของทั่วโลกจะยังคงเพิ่มขึ้น โดยจะเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทน (Renewable ) ที่ต้นทุนพลังงานไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่ำลง โดยก๊าซฯ จะเติบโตไปคู่กับพลังงานทดแทน ซึ่งจากราคาก๊าซไม่สูงมากและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ก๊าซฯ ยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยในประเทศไทยการใช้ในธุรกิจไฟฟ้าอาจจะไม่เติบโตมากนัก แต่การใช้ในภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตต่อเนื่อง ส่วนการใช้ในภาคขนส่งจะชะลอตัวลง ซึ่งในส่วนของประเทศไทยมีการใช้ก๊าซฯ เป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้มและน้ำมันเตา ซึ่งช่วยลดการปลดปล่อย PM 2.5 ได้ถึง 150 ตัน/ปี
นายวุฒิกร กล่าวว่า จากที่เทคโนโลยีแหล่งก๊าซจากหินดินดาน (เชลล์ก๊าซ) มีการค้นพบมากยิ่งขึ้น ทั้งในสหรัฐและจีน ทำให้ราคาก๊าซฯ ต่ำลงกว่าในอดีต โดยราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) ขณะนี้ราคาตลาดจรอยู่ที่ประมาณกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียูเท่านั้น โดย ปตท.ปรับตัวพร้อมรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและสอดรับกับนโยบายของภาครัฐส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทั้งซื้อขายไฟฟ้า และศูนย์กลางการค้าแอลเอ็นจีในภูมิภาคนี้ ปตท.จึงมีโซลูชั่นที่หลากหลาย เพื่อป้อนความต้องการใช้ก๊าซฯให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมที่อยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซฯ และนอกแนวท่อก๊าซฯ ทำให้ยอดการใช้ยังเติบโตและมีการส่งก๊าซแอลเอ็นจีทั้งภาครถยนต์และพร้อมนำเข้ามา เพื่อส่งต่อเรือขนาดเล็กไปยังประเทศเพื่อนบ้านและพื้นที่นอกแนวท่อ
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมที่จะรองรับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายแอลเอ็นจี โดยมีสถานีที่ใช้งานแล้ว แห่งที่ 1 รองรับ 11.5 ล้านตัน/ปี และสถานีแห่งที่ 2 หนองแฟบ กำลังก่อสร้าง รองรับ 7.5 ล้านตัน/ปี ในปี 2565 ส่วนสถานีที่ 3 อยู่ในโครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 จะรองรับก๊าซเฉลี่ย 5-8 ล้านตัน/ปี จะสร้างเสร็จปีใด ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของภาครัฐ ทำให้รวมทั้ง 3 แห่ง รองรับในอนาคตได้ถึง 27 ล้านตัน/ปี
นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล บี 10 เป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 นั้น โออาร์พร้อมรับนโยบายเร่งผลักดันการขยายสถานีบริการพีทีที สเตชั่น ที่มีน้ำมันดีเซลบี 10 จำหน่าย โดยจะขายบี 10 จำนวน 70 แห่งทั่วประเทศภายในเดือนตุลาคม 2562 และจะขยายเป็น 200 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2562 นี้ รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้คลังน้ำมันขนาดใหญ่ของโออาร์ทั่วประเทศพร้อมจ่ายน้ำมัน บี10 ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อเป้าหมายการมีน้ำมันดีเซลบี 10 จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศวันที่ 1 มีนาคม 2563 ตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่จะส่งเสริมให้น้ำมันดีเซลบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลหลักของประเทศ
สำหรับน้ำมันพีทีที อัลตร้าฟอร์ซ ดีเซลบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลที่ผสมไบโอดีเซลที่มีคุณภาพและความบริสุทธิ์สูงซึ่งได้รับการรับรองโดยสมาคมผู้ผลิตยานยนตร์ญี่ปุ่น (JAMA) ช่วยให้เผาไหม้ได้สมบูรณ์ ช่วยลดควันดำได้ร้อยละ 42 และลดการปล่อยฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลปกติ จึงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยสารเติมแต่งสูตรพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นสารเพิ่มค่าซีเทน ช่วยให้เครื่องยนต์จุดระเบิดเร็ว เพิ่มกำลังของเครื่องยนต์ และสารทำความสะอาดหัวฉีด ป้องกันการอุดตันของหัวฉีด การสนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มดิบมาผลิตเป็นไบโอดีเซลบี 100 และนำมาผสมเป็นน้ำมันดีเซลบี 10 นี้ ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทยผู้ปลูกปาล์มได้โดยตรง นอกจากนี้ น้ำมันดีเซลบี 10 ยังมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลธรรมดาลิตรละ 2 บาท จึงถือเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำมันของผู้ใช้รถอีกด้วย
นอกจากนี้ โออาร์ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในศูนย์บริการยานยนต์ ฟิตออโต้ ให้บริการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ฟรี 30 รายการ และลดราคาค่าล้างแอร์ ไส้กรองแอร์ และไส้กรองอากาศ โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 1365 Contact Center.-สำนักข่าวไทย