เวียดนาม 15 ก.ย. – ท่าอากาศยานดอนเมืองเพิ่มแผนแก้ปัญหาลดความแออัดการใช้บริการ พร้อมเร่งเดินหน้าก่อสร้างเฟส 3 เสร็จปี 66 อึ้ง!! ตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานดานัง สร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ใช้เวลา 17 เดือน เตรียมนำมาปรับใช้งานก่อสร้างของไทย
เรืออากาศโทสัมพันธ์ ขุทรานนท์ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (สายปฏิบัติการ) บมจ.ท่าอากาศยานไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาความแออัดของท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง นอกจากมาตรการตามที่รายงานให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทราบแล้ว ขณะนี้ยังมีมาตรการที่นำมาใช้ลดความแออัดชั่วโมงเร่งด่วนที่มีผู้โดยสารมาก โดยการใช้เคาน์เตอร์เช็คอิน และด่านตรวจ ตม.ร่วมกันระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 (ระหว่างประเทศ) และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (ภายในประเทศ) โดยจะนำผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศชั่วโมงเร่งด่วนของสายการบินมาทำการเช็คอินและผ่านด่านจากอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ถือเป็นแนวทางในการใช้ศักยภาพร่วมกันของ 2 อาคาร มั่นใจว่ามาตรการระยะสั้นนี้จะใช้ผ่อนคลายปัญหาความแออัดได้ดี
ส่วนระยะยาว ท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 38,000-40,000 ล้านบาท ซึ่งตั้งเป้าหมายจะเร่งรัดให้โครงการเสร็จสมบูรณ์ปี 2566 ซึ่งจะช่วยให้ท่าอากาศยานดอนเมืองรองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบัน 30 ล้านคนต่อปี โดยการดำเนินการรื้ออาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคารเทียบเครื่องบิน 6 เดิม และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารอาคาร 3 ให้มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 18 ล้านคนต่อปี ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคาร 1 เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ เนื้องานโครงการ ประกอบด้วย 6 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มงานที่ 1 งานพัฒนาด้านทิศใต้ กลุ่มงานที่ 2 งานพัฒนาพื้นที่ด้านทิศเหนือ กลุ่มงานที่ 3 งานก่อสร้างในพื้นที่เขตปฏิบัติการการบิน กลุ่มงานที่ 4 งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 อาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ และอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 2-4 กลุ่มงานที่ 5 งานสนับสนุนโครงการพัฒนา และกลุ่มงานที่ 6 งานสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ มั่นใจว่าภายหลังการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานเสร็จจะทำให้ปัญหาคอขวดที่ทำให้เกิดความแออัดจากต้นเหตุอาคารผู้โดยสารหมดไป หลังจากนั้นต้องไปดูแลปัญหาคอขวดจากทางวิ่ง หรือรันเวย์ ซึ่งลักษณะทางกายภาพดอนเมืองมีแค่ 2 รันเวย์ และการขยายก่อสร้างรันเวย์ใหม่ทำไม่ได้ เนื่องจากติดพื้นที่ซึ่งเป็นถนนขนาบ ดังนั้น การแก้ปัญหาส่วนนี้ยอมรับว่าส่วนหนึ่งต้องไปแก้โดยการเจรจากับสายการบินเพิ่มขนาดเครื่องบินแต่ละเที่ยวบินให้มีขนาดใหญ่ขึ้นในเส้นทางที่มีศักยภาพ ก็จะช่วยแก้ปัญหาส่วนนี้ได้
ส่วนการตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานนานาชาติดานัง ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งมีอัตราการเติบโตของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 25% ต่อปี ถือเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างรวดเร็ว โดยปี 2561 มีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการมากกว่า 13 ล้านคน ประเด็นสำคัญพบว่าท่าอากาศยานของเวียดนามมีจุดแข็งในการก่อสร้างเพื่อรองรับผู้โดยสารที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 17 เดือน โดยเวียดนามใช้แรงงานก่อสร้างโครงการตลอด 24 ชั่วโมง ใช้แรงงาน 3 กะ ๆ ละ 8 ชั่วโมง ทำให้การก่อสร้างเสร็จตามเวลาที่กำหนด ซึ่งรองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ระบุว่าสามารถนำมาปรับใช้ในงานก่อสร้างท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 เพื่อเร่งรัดงานให้เสร็จเร็วยิ่งขึ้น .-สำนักข่าวไทย