กรุงเทพฯ 10 ส.ค.- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งสำรวจผลกระทบเกมโปเกมอนโก พร้อมสั่งตำรวจทุกนาย ห้ามเล่นเกมในเวลาราชการ และแนะข้อควรระวังในการเล่นเกม ป้องกันการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
พลตำรวจตรีปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมาย ตรวจสอบว่า เกมโปเกมอนโก จะมีผลกระทบด้านใดกับประชาชนบ้าง รวมถึงจุดเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางป้องกันอาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้น แม้ในปัจจุบันจะยังไม่พบมีการแจ้งความดำเนินคดีจากผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการเล่นเกม หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้น แต่หากอนาคตมีผู้ได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งได้ทางสายด่วน 191 หรือ แจ้งทางสถานีตำรวจในพื้นที่ได้ทันที พร้อมระบุว่า ห้ามตำรวจทุกนายทั่วประเทศ เล่นเกมในเวลาราชการอย่างเด็ดขาด แต่ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเรื่องการจัดโซนนิ่งการเล่นเกมดังกล่าว เพราะเชื่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งตำรวจก็พร้อมปฏิบัติตาม หากมีการกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติในระดับชาติ
ด้าน พันตำรวจเอกกฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์ข้อควรระวังในการเล่นเกมโปเกมอนโก โดยขอให้ผู้เล่นเกมระวังถูกการหลอกขายตัวละคร / ไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลที่ไม่รู้จัก / ไม่ควรใช้โปรแกรมช่วยเล่น หรือ บอท เพราะอาจมีมัลแวร์ ที่เปิดช่องให้แฮกเกอร์ขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้เล่น หรือ เปิดช่องให้คนร้ายเข้าใช้งานเครื่องจากระยะไกลได้ พร้อมย้ำว่า การเล่นเกมดังกล่าว เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ไม่ควรละเมิดสิทธิของผู้อื่น เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุ หรือถูกหลอกไปยังพื้นที่เปลี่ยว เพื่อประทุษร้ายต่อทรัพย์ และขอให้ผู้เล่น ระวังการบุกรุกสถานที่ส่วนบุคคล หรือสถานที่ราชการต่าง ๆ ทั้งนี้ ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ออกคำสั่งไม่ให้ตำรวจเล่นเกมระหว่างปฏิบัติงานแล้ว แต่อาจมีบางสถานการณ์ที่ต้องใช้เป็นเครื่องมือในการลาดตระเวน เพื่อป้องกันเหตุอาชญากรรมให้กับประชาชนด้วย
ตำรวจมีมาตราการรองรับบุคคลพ้นโทษทั่วประเทศ 36,000 คน โดยติดตามพฤติกรรมตลอดหากทำผิดซ้ำในระยะเวลากำหนดจะถูกเพิ่มโทษ วอนสังคมให้โอกาส
พลต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีระเบียบดูแลบุคคลพ้นโทษ ขอประชาชนอย่ากังวลเนื่องจากนักโทษกลุ่มนี้กรมราขทัณฑ์ได้ขัดเกลานิสัย ฟื้นฟูเยียวยาและประเมินแล้วว่ากลับออกมาสู่สังคมได้ ตามโครงการ “คืนคนดีสู่สังคม” จึงขอสังคมให้โอกาสอย่าตีตราว่าเป็นพวกขี้คุก ในส่วนของตำรวจว่าด้วยการดูแลบุคคลพ้นโทษ ฝ่ายสืบสวนจะทำบัญชีบุคคลพ้นโทษและติดตามพฤติกรรมโดยจะรายงานผู้บังคับบัญชาทุกวันที่1ของเดือนเป็นระยะเวลา 1 ปี หากย้ายที่อยู่ก็ต้องแจ้งพื้นที่ปลายทางให้รับทราบโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม หากได้รับการปล่อยตัวแล้วในระยะเวลา 3ปี ทำผิดซ้ำ ศาลจะสั่งเพิ่มโทษกึ่งหนึ่ง หากพ้นโทษไม่เกิน 5 ปี ทำผิดซ้ำศาลเพิ่มโทษไม่เกิน 1ใน3
อย่างไรก็ตาม รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่าจะมีนักโทษได้รับการปล่อยตัวจำนวน 36,000 คนจาก 143 เรือนจำทั่วประเทศ โดยจะทยอยปล่อยตัวออกมา.-สำนักข่าวไทย