มักกะสัน 19 ส.ค. – กรมเด็กฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายออกแนวทางเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล พร้อมเรียกร้องทุกฝ่ายเร่งมาตรการคุ้มครองป้องกันเด็กไทยเสี่ยงภัยออนไลน์ หลังผลสำรวจพบเด็กไทยมีความเสี่ยงจากภัยออนไลน์หลายรูปแบบ
กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยศูนย์ประสานงานส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ โคแพท (COPAT – Child Online Protection Action Thailand) แถลงผลสำรวจที่ทำร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เกี่ยวกับสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ซึ่งสำรวจทางออนไลน์ เมื่อเดือน ก.พ.-เม.ย. 2562 กลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามอายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน จากทั่วประเทศ
นางศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เปิดเผยผลสำรวจว่า เด็กเกือบทั้งหมดเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์แต่ก็ตระหนักเรื่องภัยอันตรายและความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กร้อยละ86 เชื่อว่าสามารถให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบภัยออนไลน์ได้ ขณะที่ร้อยละ 54 เชื่อว่าเมื่อเกิดกับตนเองสามารถจัดการปัญหาได้ เด็กมากกว่าร้อยละ 83 ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน ใช้เพื่อพักผ่อน/บันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม เป็นหลัก คือร้อยละ67 , เด็กร้อยละ 39 ใช้อินเทอร์เน็ต 6 – 10 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 38 เล่นเกมออนไลน์มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการใช้มากเกินไปเสี่ยงต่อการเสพติดเกมและอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นปัญหาทางสุขภาพจิต
เด็กร้อยละ 31 เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ เพศทางเลือกโดนมากที่สุด คือร้อยละ 49 เด็กร้อยละ 40 ไม่ได้บอกใครเกี่ยวกับเรื่องที่โดนกลั่นแกล้ง นั่นหมายถึง เด็กบางส่วนอาจทนทุกข์กับเรื่องที่โดนแกล้ง หรือบางส่วนอาจไม่รู้สึกหรือไม่ได้ให้ค่ากับคนที่แกล้ง อย่างไรก็ดีเด็กร้อยละ 34 เคยกลั่นแกล้งรังแกคนอื่นทางออนไลน์ ซึ่งส่วนหนึ่งบอกว่าเป็นการโต้ตอบที่ตนเองโดนแกล้ง การกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ สร้างความทุกข์ เจ็บปวด เก็บกด หดหู่ บาดแผลทางใจให้กับเด็ก ซึ่งอาจส่งผลต่อร่างกาย ทำให้นอนไม่หลับ เจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นโรคหวาดระแวง ใช้สุราหรือสารเสพติด อาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตายได้ พ่อแม่ผู้ปกครองหรือครู ควรหมั่นสังเกตอาการเด็กแล้วเข้าช่วยเหลือโดยเร็ว อย่าคิดว่าเป็นเรื่องของเด็กอีกประเดี๋ยวคงผ่านไป เพราะภาพหรือคลิปวิดีโอบนโลกออนไลน์นั้นจะวนเวียนทำร้ายเด็กไม่สิ้นสุด
เด็กร้อยละ 74 เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ ร้อยละ50 เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารเด็ก ร้อยละ 6 เคยครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก เคยส่ง ส่งต่อหรือแชร์ สื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เด็กร้อยละ 2 ยอมรับว่าเคยถ่ายภาพหรือวิดีโอตนเองในลักษณะลามกอนาจารแล้วส่งให้คนอื่น ๆ ด้วย
เด็กร้อยละ 26 เปิดอ่านอีเมลหรือคลิก link ที่ไม่รู้จัก ร้อยละ 34 ให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด ภาพถ่ายของตัวเองหรือครอบครัวผ่านสื่อออนไลน์ ร้อยละ 35 เคยถ่ายทอดสดหรือ live ในขณะที่ร้อยละ 69 แชร์โลเคชั่นหรือเช็คอินสถานที่ต่าง ๆ ที่ไป พฤติกรรมเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่อาจนำภัยอันตรายมาถึงตัว
เด็ก 1 ใน 4 ที่ตอบแบบสอบ (3,892 คน หรือร้อยละ 25.4) เคยนัดพบกับเพื่อนออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง และยอมรับว่าถูกเพื่อนที่นัดพบกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างต่อไปนี้ พูดจาล้อเลียน ดูถูก ทำให้เสียใจ (199 คน หรือร้อยละ 5.1) หลอกให้เสียเงินหรือเสียทรัพย์สินอื่น ๆ (80 คน หรือร้อยละ 2.1) ละเมิดทางเพศ (73 คน หรือร้อยละ 1.9) ทุบตีทำร้ายร่างกาย (67 คน หรือร้อยละ 1.7) และ ถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอแล้วนำไปประจาน และ/หรือ ข่มขู่เรียกเงิน (50 คน หรือร้อยละ1.3)
นางธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสื่อออนไลน์ในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ก.ค.2562 ซึ่งกรมกิจการเด็กฯ ร่วมกับสมาคมฯ พบว่ามีรายงานข่าวสถานการณ์สื่อออนไลน์ผ่านสื่อมวลชนในรูปแบบต่าง ๆ เฉลี่ย17 ข่าวต่อสัปดาห์ แบ่งเป็น 5 มิติ คือ 1) ประเภทกลุ่มเป้าหมายในเชิงธุรกิจ 2) ประเภทของภัยผ่านสื่อออนไลน์ 3) ประเภทของกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ 4) ประเภทขององค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 5) ประเภทผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งบวกและลบ
มีข่าวคราวที่โดดเด่นในเชิงนโยบาย อาทิ ข่าวที่มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิ การชุดต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีคณะกรรมาธิการด้านการท่องเที่ยวและกีฬาที่นำภารกิจเกี่ยวกับการสนับสนุนและส่งเสริมอีสปอร์ตเข้าไปเป็นหนึ่งในภารกิจของคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวด้วย นับว่ามีความสำคัญต่อการกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดผล กระทบจากการเล่นเกมออนไลน์ของเด็กไทยเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ยังมีข่าวการคัดตัวผู้เข้าแข่งขันในระดับชาติและการนำเสนอกระบวนการคัดเลือกทีมอีสปอร์ตเพื่อเป็นตัวแทนไปแข่งขันในระดับ ประเทศด้วย ซึ่งข่าวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความรุ่งเรืองของการแข่งขันเกมออนไลน์ในเด็กและเยาวชนที่มีประเด็นให้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
กรมกิจการเด็กฯ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน ได้ออกมาตรการปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ เป็นกรณีเร่งด่วน เนื่องจากข้อมูลจากการสำรวจที่มาจากเด็กและการติดตามสถานการณ์ผ่านสื่อในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เป็นข้อมูลที่ยืนยันว่าเราต้องจริงจังกับมาตรการป้องกันและช่วยเหลือเด็กให้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรมกิจการเด็กฯโดย COPAT ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้จัดทำ “แนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์” หรือ Child Online Protection Guidelineประกอบด้วยข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักรูปแบบของภัยออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชน การรับมือกับ Cyber bullying การป้องกันเด็กติดเกม แนวทางการเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล ซึ่งต้องติดอาวุธ รู้เท่าทันสื่อ และความฉลาดทางดิจิทัล หรือ DQ ให้เด็ก หวังให้ทุกบ้านมีไว้ใช้ดูแลบุตรหลานในยุค 4.0 ดาวน์โหลดฟรี ได้ที่ facebook COPATcenter และ https://inetfoundation.or.th/Welcome/media_download?id=136 .-สำนักข่าวไทย