กรุงเทพฯ 16 ส.ค. – กลุ่ม ปตท.เร่งลงทุนใช้โอกาสบาทแข็ง-ดอกเบี้ยต่ำ ยอมรับกำไรอาจหดกว่าปีที่แล้ว ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกผันผวน พร้อมปรับแผนรับเทคโนโลยีใหม่ พลังงานทดแทนมีบทบาทสูงขึ้นตั้งเป้าหมายลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด 8 พันเมกะวัตต์ เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงร้อยละ 20 ในปี 2573
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ยอมรับว่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า กระทบมายังราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี แม้กลุ่ม ปตท.จะมีการปรับพอร์ตเพื่อรับผลกระทบด้านต่าง ๆ มีการทำแผนลดความเสี่ยง แต่ก็ยังได้รับผลกระทบ โดยยอมรับว่ากำไรปีนี้อาจจะไม่เท่ากับปีที่ 2561 ที่ประมาณ 119,000 ล้านบาท แต่จะไม่ลดต่ำเท่ากับปี 2558 ที่เป็นปีที่ราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างรุนแรงที่ปีนั้นมีกำไรอยู่ที่ 19,900 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากในช่างเงินบาทแข็งค่า อัตราดอกเบี้ยลดลง จึงเป็นโอกาสที่กลุ่ม ปตท.ซึ่งมีความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน จึงมีความสามารถในการลงทุนโครงการระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการขยายกำลังกลั่นของไทยออยล์ การขยายกำลังผลิตและโครงการใหม่ ๆ ของ บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล โครงการของไออาร์พีซี การลงทุนของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) การเพิ่มทุนของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จ ากัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี เมื่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้นราคาผลิตภัณฑ์กลับมาดี กลุ่ม ปตท.ก็จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้ โดยการลงทุนหลักของ ปตท.ก็จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในครึ่งปีหลังของปี 2562 ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เช่น โครงการสถานีนำเข้าแอลเอ็นจีหนองแฟบ เป็นต้น
ส่วนโครงการที่ไม่จำเป็น ทางกลุ่ม ปตท.ได้ชะลอการลงทุน พร้อม ๆ กับเร่งรัดการเพิ่มรายได้จากโครงการที่ลงทุนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนซื้อกิจการแหล่งปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. การซื้อกิจการโกลว์ของจีพีเอสซี และอื่น ๆ
“ผลประกอบไตรมาส 2/2562 ถือว่าตกต่ำที่สุดในปีนี้ คาดครึ่งปีหลังจะดีขึ้น จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น โดยคาดราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยที่ 65-68 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากครึ่งแรกของปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 65ดอลลาร์/บาร์เรล ต่ำกว่าปีที่แล้ว 68 ดอลลาร์/บาร์เรล” นายชาญศิลป์ กล่าว
สำหรับการลงทุนระยะยาวเพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน กลุ่ม ปตท.ได้กำหนดเป้าหมายตามทิศทางตลาดโลกที่ความต้องการพลังงานปฐมภูมิ (Primary Energy) ของโลกจะเติบโตช้าลงหลังปี 2573 (ค.ศ. 2030 ) ซึ่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์จะเพิ่มขึ้นสองเท่าในปี 2593 (ค.ศ.2050 )เมื่อเทียบกับปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม พลังงานฟอสซิลยังคงเป็นพลังงานหลัก ดังนั้น กลุ่ม ปตท.จึงตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ในปี 2573 ลงทุนปรับพอร์ตไปสู่พลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศมีการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ทั้งก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power ) พลังงานทดแทน รวม ๆ 8,000 เมกะวัตต์ และจะลดพอร์ตลงทุนเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ซึ่งกำลังศึกษาว่าจะลดการลงทุนด้วยการขายกิจการหรือการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ อินโดนีเซีย พร้อม ๆ กับการศึกษการลงทุนที่เน้นไปด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างแพล็ทฟอร์มที่แข่งขันได้ ร่วมทุนกับสตาร์ทอัพ การลงทุนในธุรกิจพลาสติกชีวภาพตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น
ส่วนการลงทุนโครงการท่าเรือแหหลมฉบังระยะที่ 3 และท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 คาดว่ารัฐบาลจะอนุมัติไตรมาส 4/2562 และทาง ปตท.จะเริ่มใส่เม็ดเงินลงทุนในปีหน้า ส่วนการกระจายหุ้นของ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์ ทาง ปตท.ยังตั้งเป้าหมายกระจายหุ้นแน่นอน แต่จะเป็นเมื่อไหร่อย่างไร ก็ขอดูทุกอย่างให้รอบคอบ
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ปตท.และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 1,121,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,437 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกับของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 55,250 ล้านบาท ลดลง 14,567 ล้านบาท หรือร้อยละ 21 จากผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นปรับลดลง เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีเกือบทุกประเภทลดต่ำลง กำไรสตอกน้ำมันที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ รวมถึงกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลงเช่นกันจากหลักการของธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ราคาขายอ้างอิงราคาปิโตรเคมีปรับลดลง แต่ต้นทุนก๊าซฯ ปรับสูงขึ้น. -สำนักข่าวไทย