เมืองทองธานี 8 ส.ค. – “จุรินทร์” มอบนโยบายรัฐบาลผู้บริหารระดับสูง ลุยช่วยเกษตรกรและแก้อุปสรรคปัญหาร่วมทุกฝ่าย ขอกรมศุลกากรตรวจน้ำมันปาล์มหก พร้อมแจ้งผู้ว่าทุกจังหวัดเช็คสินค้าท้องถิ่นจดสิทธิ GI โดยโมบายเคลื่อนที่ไปบริการ
นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการประชุมชุมชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูง ที่อิมแพคเมืองทองธานี โดยประกาศใช้นโยบายประกันรายได้เกษตรกร รัฐบาลเขียนเป็นนโยบายเร่งด่วนชัดเจน มีพืชสำคัญ 5 ตัวคือ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา และ ข้าวโพด โดยใช้ส่วนต่างของราคาเพื่อช่วยเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ เอกชนและตัวแทนเกษตรเมื่อวานที่ผ่านมาได้ข้อสรุปประกันรายได้ปาล์มน้ำมันที่กิโลกรัมละ 4 บาทที่น้ำมัน 18% โดยจัดประกันรายได้ให้ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย การคิดคำนวณส่วนต่างนี้ดำเนินโดยคณะกรรมการฯ แล้วโอนผ่านเงินส่วนต่างเข้าบัญชีของเกษตกรโดยตรงด้วยธนาคาร ทุกระยะ 3 เดือน แต่ถ้าสถานการณ์ราคาปาล์มสูงกว่าหลักรายได้ที่ประกันเกษตรสามารถขายได้ราคาที่ไม่มีเงินส่วนต่างไม่มีภาระงบประมาณ
ทั้งนี้ ถือเป็นมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลโดยจะมีมาตรการเสริมเข้ามาทำให้ราคาดีขึ้น หากราคาดีขึ้นก็จะลดภาระรัฐบาล แต่ถ้าราคาเกินรายได้ที่ประกันรัฐบาลก็จะไม่มีภาระงบประมาณ แต่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และพร้อมมาตรการใช้ไบโอดีเซล ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานที่จะร่วมผลักดันมาตรการใช้น้ำมันบี 10 เป็นภาคบังคับโดยเปลี่ยนจากน้ำมันบี7 เป็นบี 10 ให้ได้ และต้องขอบคุณนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หากสามารถใช้มาตรการร่วมกันได้จะทำให้ราคาปาล์มผลผลิตเข้าสู่ดุลยภาพ อีกมาตรการคือ นำปาล์มไปใช้เป็นเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นมติจากคณะรัฐมนตรีชุดก่อนหน้านี้แต่ยังสามารถทำต่อเนื่องได้ ซึ่งจะได้รับความร่วมมือจากกระทรวงพลังงานการแก้ไขปัญหาจะเดินหน้าได้
ส่วนมาตรการต่อมา คือ การนำเข้าน้ำมันปาล์มจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่เปลี่ยนเป็นการส่งออกผ่านไปประเทศที่ 3 นั้น ซึ่งในกรณีนี้เรียกว่า “น้ำมันปาล์มหก” เหลือไว้ในประเทศทำให้มีการมากดราคาผลปาล์มในประเทศเพราะการรับซื้อจะน้อยลง ดังนั้นจึงฝากกรมศุลกากร ให้ช่วยตรวจสอบตัวเลขการนำเข้ากับการส่งออกไม่ให้เกิดปัญหา มาตรการต่อมา คือ การกำกับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มที่ฟอกแล้วจะใช้เครื่องมือทางอิเล็คทรอนิกส์ หรือ ใช้เกวัด เข้ามาตรวจวัดแทนการใช้กำลังคนเพื่อมาตรฐานการตรวจสอบที่แม่นยำ
นอกจาก น้ำมันปาล์มแล้วยังได้สั่งการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปดูและหามาตรการช่วยเหลือผลไม้ อื่นๆ ที่จะออกสู่ตลาดทั้ง ลำไย ทุเรียนและหลายชนิดให้สามารถกระจายไปจังหวัดต่างๆให้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งเร่งผลักดันส่งออกตลาดผลไม้เหล่านี้ให้รวดเร็วเช่นกัน ซึ่งตลาดผลไม้ไทยดังกล่าวพึ่งพาการส่งออกและตลาดใหญ่ โดยเฉพาะตลาดประเทศจีน แต่เกิดปัญหา คือ ตอนนี้ทางประเทศจีนเริ่มขึ้นผลักดันมาตรฐานผลไม้และสินค้าเกษตรส่งออกโดยขอเอกสาร GAT หรือมาตรฐานสินค้า เอกสารนี้กระทรวงเกษตรเป็นผู้ออกโดยกรมวิชาการเกษตร แต่ที่ผ่านมามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ส่งออก อยากให้เร่งรัดดำเนินการออกเอกสาร ในทางที่ไม่ต้องการให้เรื่องนี้ติดเป็นคอขวดเพราะจะกลายเป็นปัญหาต่อการส่งออก จึงขอให้กระทรวงเกษตรไปดำเนินการแก้ไขปัญหา และขอฝากเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือ เซฟการ์ด กรณีสินค้าที่นำเข้ามาอย่างผิดปกติสามารถใช้มาตรการนี้ตรวจสอบได้เพื่อไม่ให้กระทบกับสินค้าเกษตรภายในประเทศแต่กระทรวงเกษตรจะต้องเป็นผู้ดำเนินการออกมาตรการนี้ ขอให้ดำเนินการโดยเร่งรัด
ส่วนมาตรการด้าน การส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งแม้เป็นโจทย์ยากท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนแต่เป็นเรื่องที่จะต้องทำนอกจากตั้งยุทธศาสตร์รักษาตลาดเดิมขยายตลาดเดิมแล้ว ต้องเพิ่มตลาดใหม่และพื้นตลาดเก่า เช่น ตลาดข้าวอิรัก กับการเปิดตลาดที่จอร์แดน เซาท์แอฟริกา อินเดีย เป็นต้น และสิ่งสำคัญ คือ การเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนเพื่อเพิ่มตัวเลขการส่งออกที่เร็วได้อีกทางหนึ่งเป็นช่องทางที่มีศักยภาพถ้าหากได้รับความร่วมมือในทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตจังหวัดชายแดน โดยจะบูรณาการร่วมทุกประเทศที่เกี่ยวข้องและทุกฝ่ายซึ่งอยู่ในองค์การประโยชน์ของประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งที่ติดขัดให้สามารถผ่านไปได้
อย่างไรก็ตาม ยังขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ช่วยรวบรวมจัดทำบัญชีรายการสินค้าท้องถิ่นของตนเองที่เป็นสินค้าสุดยอด และเป็นสินค้ามาจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ ให้เข้ามาเป็นสินค้าเด่นเพื่อสร้างมูลค่าสินค้าเหล่านี้ให้มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งจะให้กระทรวงพาณิชย์จัดรถโมบายไปให้บริการประชาชน อำนวยความสะดวกถึงที่กันต่อไป . – สำนักข่าวไทย