กรุงเทพฯ7 ส.ค. – “สุริยะ” เข้าพบผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ 13 ส.ค. แก้บาทแข็ง พร้อมเสนอมาตรการดึงดูดนักลงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนไทยต่อ “สมคิด” 14 ส.ค.นี้
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 13 สิงหาคม เวลา 15.15 น. จะเดินไปพบผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางช่วยเหลือผู้ส่งออกไทยที่ขณะนี้ประสบปัญหาเงินบาทแข็งค่า ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ซึ่งการหารือจะทำให้ทราบถึงแนวทางช่วยเหลือที่ไม่ผิดกฎหมายว่าประเทศไทยแทรกแซงค่าเงินบาท เนื่องจากสหรัฐในช่วงที่ผ่านมามีการออกมาระบุว่าประเทศจีนมีการแทรกแซงค่าเงินหยวนมาแล้ว ทราบดีว่า ธปท.เป็นหน่วยงานอิสระ มีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงินของประเทศ
นอกจากนี้ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะนักลงทุนจากจีนเบื้องต้นได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เร่งจัดทำมาตรการดึงดูดการลงทุน โดยให้จัดทำสิทธิประโยชน์ในการลงทุนสูงเพียงพอที่จะแข่งขันกับประเทศเวียดนาม โดยมาตรการเหล่านี้และเพื่อให้การดึงดูดการลงทุนจากจีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายที่จะจัดตั้งสำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมในต่างประเทศเพิ่มที่เซี่ยงไฮ้ คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 1 ปีนับจากนี้ไปโดยจะนำแผนเสนอให้ ครม.พิจารณา มาตรการดึงดูดนักลงทุนจะได้มีการสรุปและนำเสนอให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางมาตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรมวันที่ 14 สิงหาคม นี้
สำหรับการดึงดูดนักลงทุนจีนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมาไทยเพื่อผลิตสินค้าส่งออกนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเชิญนักลงทุนจีนประมาณ 300 คนเข้ามารับทราบศักยภาพของประเทศไทยในการรองรับการลงทุน โดยจะพบปะหารือกับนักลงทุน พร้อมนำลงพื้นที่จริงในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพื่อให้เห็นถึงความพร้อม
ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ สศอ.ทบทวนนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากขณะนี้แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกและผู้ผลิตรถยนต์ต่างให้ความสำคัญด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยมลพิษลงเป็นอย่างมาก ดังนั้น การผลิตรถยนต์ในอนาคตจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
นายสุริยะ ยังกล่าวถึงการเข้าพบและหารือของตัวแทนสมาคมชาวไร่อ้อยช่วงเช้าวันนี้ (7 ส.ค.) ว่า ชาวไร่อ้อยระบุว่ามีความยากลำบากจากราคาอ้อยตกต่ำในช่วงที่ผ่านเพียง 600-800 บาทต่อตันอ้อย ขณะที่ชาวไร่อ้อยมีต้นทุนการผลิตประมาณ 1,100 บาทต่อตันอ้อย จึงต้องการให้ช่วยเหลือ ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดทำมาตรการช่วยเหลือให้เสร็จและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติประมาณเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือด้านราคาจะช่วยได้ไม่ถึง 1,000 บาทต่อตันอ้อย ทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับการช่วยเหลือในภาพรวมอยู่ในระดับประมาณ 900 บาทต่อตันอ้อยเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย