กรุงเทพฯ 3 ส.ค.- เงินบาทกลับมาอ่อนค่าหลังเฟดลดดอกเบี้ย แม้ยังไม่ระบุชัดจะลดอีกรอบในปีนี้ก็ตาม ขณะที่หุ้นไทยลดลงหลังถูกกดดันจากสงครามการค้า
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงหลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด ) โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ชะลอลงระหว่างที่ตลาดรอติดตามผลการประชุม เฟดและการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ หลังจากที่ถ้อยแถลงของประธานเฟดยังไม่สะท้อนถึงโอกาสของการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งต่อไป แม้เฟดจะมีการปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบล่าสุดก็ตาม
สำหรับในช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคท่ามกลางสัญญาณตึงเครียดของสงครามการค้า แต่ลดช่วงติดลบกลับมาได้เกือบทั้งหมด ก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ (2 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 30.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.93 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 ก.ค.)
ด้าน ดัชนีหุ้นไทยลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,684.71 จุด ลดลง ร้อยละ 1.94 จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 60,780.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.07 จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง ร้อยละ 2.71 จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 363.21 จุด
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ โดยตลาดถูกกดดันในช่วงต้นสัปดาห์จากความกังวลว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2/62 จะมีทิศทางที่ค่อนข้างอ่อนแอ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นมาได้เล็กน้อยช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนจะร่วงลงอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณถึงการปรับลดดอกเบี้ยครั้งถัดไป ประกอบกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติม ซึ่งทำให้นักลงทุนกลับมากังวลประเด็นสงครามการค้าอีกครั้ง นอกจากนี้ สถานการณ์ในประเทศก็น่าจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมของตลาดหุ้นไทยในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (5-9 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,670 และ 1,650 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,715 จุด ตามลำดับ ด้านธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.60-31.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดรอติดตามสถานการณ์ในประเทศ และผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายพารเงิน (กนง.) ในวันที่ 7 ส.ค . รวมทั้งติดตาม สถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงสถานการณ์ Brexit ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite เดือนก.ค.ของยูโรโซน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/62 ของญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคเดือนก.ค.ของจีน-สำนักข่าวไทย