กรุงเทพฯ 24 ก.ค. – “จตุพร” เผยการเจรจาภาษีกับสหรัฐอเมริกาใกล้ได้ข้อยุติ โดยกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนข้อมูล “ทีมไทยแลนด์” เต็มที่ โดยมีจุดยืนคำนึงถึงการปกป้องประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย แนะให้ภาคเอกชนเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามการค้ารอบนี้ ที่จะทำให้การค้าโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ขณะที่ ส.อ.ท. เผยสินค้าอุตสาหกรรมหลายกลุ่มยอมให้นำเข้าสินค้าสหรัฐ 0% แต่บางอุตสาหกรรมยังขอเวลาในการปรับตัว
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเจรจาภาษีกับสหรัฐอเมริกาใกล้ได้ข้อยุติ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้สนับสนุนข้อมูลทุกด้านแก่ “ทีมไทยแลนด์” ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าทีม เพื่อใช้ประกอบการเจรจา โดยยืนยันว่ารัฐบาลมีจุดยืนชัดเจนในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทีมไทยเสนอ คือ การปรับปรุงเกณฑ์การคำนวณ “มูลค่าในประเทศ” (Regional Value Content: RVC) เพื่อให้สะท้อนสัดส่วนมูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงภายในประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ยังแนะนำให้ภาคเอกชนเตรียมพร้อมปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์การค้าและสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้โครงสร้างการค้าโลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
ด้านนายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้จัดประชุมกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อกำหนดท่าทีและจัดทำข้อเสนอแนะรองรับการเจรจา โดยหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเห็นชอบให้ปรับลดอากรสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% ในหลายรายการ เช่น สินค้าเหล็กและยาบางประเภท ขณะที่บางอุตสาหกรรม เช่น เคมีภัณฑ์ ขอเวลาเพิ่มเติมเพื่อปรับตัว
“ข้อมูลเชิงเทคนิคที่ส.อ.ท.ส่งมอบให้ทีมไทยแลนด์ จะช่วยเพิ่มน้ำหนักในการเจรจา และคาดว่าจะสามารถต่อรองให้ลดอัตราภาษีต่ำกว่าระดับ 36% ได้” นายนาวากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในค่ำวันนี้ ทีมไทยแลนด์มีกำหนดเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) อีกครั้ง ภายหลังจากที่ฝ่ายไทยได้ยื่นข้อเสนอรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม โดยเสนอเปิดนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ในอัตราภาษีต่ำถึง 0% ประมาณ 90% ของรายการสินค้านำเข้าส่งออกกว่า 10,000 รายการ ขณะที่สหรัฐฯ ขอให้ไทยขยายการเปิดตลาด (Market Access) ลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTB) และสนับสนุนการลงทุนในสหรัฐ ซึ่งฝ่ายไทยรับว่าจะนำมาพิจารณาในการเจรจาครั้งถัดไป. -512-สำนักข่าวไทย